ทำใจไว้ได้เลย.. เหตุผลที่เรายากจะได้เห็น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก.ดิจิทัลฯ บอกว่า ข่าวไหนจากรัฐเป็น ‘ข่าวปลอม’
เพราะรัฐให้ข้อมูลไม่เคยผิด ไม่เคยเป็นข่าวปลอม? คำตอบคือไม่ใช่แน่ๆ ในวิกฤตโควิด-19 เราก็เห็นหลายครั้งที่รัฐให้ข้อมูลผิด จนต้องออกมาแก้ข่าว ลบโพสต์ในโซเชียลมีเดีย บางครั้งรัฐเองนั่นแหละที่ให้ข้อมูลโต้กันไปมา แกผิด แกสิผิด แกนั่นแหละผิดถ้าอย่างนั้นเป็นเพราะอะไรกันล่ะ
ขอสปอยล์คำตอบล่วงหน้าว่า เป็นเพราะวิธีการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก.ดิจิทัลฯ เอง ที่ไม่ได้มีหน้าที่ ‘ผู้ตรวจสอบ’ แต่เป็นเพียง ‘ผู้ประสานงาน’ ให้หน่วยงานรัฐต่างๆ ได้ชี้แจงเสียมากกว่า
จะสแตมป์ตรา ‘ข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือน’ ยังไง ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของหน่วยงานรัฐในเรื่องนั้นๆ
ข้อมูลข้างต้น เราเพิ่งเข้าใจ หลังฟัง ‘สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์’ รอง ผอ.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก.ดิจิทัลฯ พูดในงานเสวนาอบรมพัฒนาทักษะสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต เพื่อรับมือกับสถานการณ์ข่าวปลอม เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2564
สันติภาพเล่าถึงขั้นตอนการทำงานของศูนย์ 5 ขั้นตอน
1.) การรับข่าวไหนที่สงสัยว่าเป็นข้อมูลปลอมมาตรวจสอบ ซึ่งมาจาก 2 ช่องทาง คือประชาชนแจ้งเข้ามาผ่านแพล็ตฟอร์มออนไลน์ของศุนย์ ทั้งเว็บไซต์ ไลน์ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ กับใช้เครื่องมือ social monitoring tools เก็บคีย์เวิร์ดที่คนพูดกันมากๆ อ้างอิงจากกูเกิ้ลเทรนด์และทวิตเตอร์เทรน์ แล้วนำไปตรวจสอบ
2.) เมื่อได้ข้อมูลที่จะตรวจสอบมาแล้ว จะดูว่าเข้าหลักเกณฑ์ (criteria) ไว้ตรวจสอบหรือไม่ หลักๆ มี 2 เงื่อนไข คือ หากเป็นความเห็น อันนี้ตรวจสอบไม่ได้ และสอง ถ้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่กระทบคนวงกว้าง ก็จะไม่ตรวจสอบ
ถ้าข่าวใดที่ผ่านเกณฑ์รับไว้ตรวจสอบ จะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลักๆ ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ สุขภาพ และนโยบายรัฐ
3.) วิธีการตรววจสอบข่าวปลอมของศูนย์ คือจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบว่าข้อมูลดังกล่าว ‘จริง’ หรือ ‘เท็จ’ โดยจะต้องให้หลักฐานทางวิชาการมาประกอบด้วย “ศูนย์เราไม่มีหน้าที่ประทับว่า จริงหรือเปล่า แต่มีหน้าที่เอาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ตอบกลับมา เอามาช่วยเขาในการกระจายออกไปว่า ข่าวนี้ปลอม ข่าวนี้จริง ในช่องทางที่เรามี” รอง ผอ.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก.ดิจิทัลฯ อยู่ลักษณะนี้อยู่หลายครั้งในงานเสวนา
4.) หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบกลับมาว่า ข้อมูลนั้นๆ เป็น ‘ข่าวปลอม’ คือปลอม 100% ‘ข่าวบิดเบือน’ อาจจะไม่ปลอมทั้งหมด แต่บอกข้อมูลบางอย่างผิด เช่น ตัวเลข สถานที่ หรือ ‘ข่าวจริง’ ก็จะไปประสานงานกับตำรวจ เช่น ปอท. ในการดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
5.) เอาข่าวที่ได้คำตอบจากหน่วยงานของรัฐ มาเผยแพร่ในช่องทางที่แจ้งเข้ามา ทั้งเว็บไซต์ ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ โดยข่าวปลอมที่ซ้ำๆ จะเอาไปอยู่ใน database เพื่อให้ประชาชนค้นหาได้ และหากตรวจสอบได้ข่าวปลอมมากจำนวนหนึ่ง ก็อาจจะทำระบบให้ไปตอบเลยว่า ข่าวนี้ๆ มันปลอมนะ
ผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมนับแต่เปิดจนถึงงานเสวนาดังกล่าว (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย.2562 – 26 ก.ค.2564) มีข่าวที่เข้าระบบคัดกรอง 206,015,276 ข้อความ โดย 99% มาจากระบบ social monitoring tools เข้าเกณฑ์และเอามาตรวจสอบต่อ 11,702 เรื่อง โดยอยู่ในหมวดข่าวสุขภาพมากที่สุด 54% รองลงมาคือนโยบายของรัฐ 42% ตรวจสอบแล้ว 5,912 เรื่อง และเผยแพร่ผลการประสานงานให้หน่วยงานรัฐตรวจสอบและส่งข้อมูลกลับ 1,873 เรื่อง
จากขั้นตอนการทำงานดังกล่าว เราอยากชวนจินตนาการกันว่า สมมุติมีใครสักคนสงสัยว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ออกจาก ศบค.จริงหรือไม่ พอส่งให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก.ดิจิทัลฯ ช่วยตรวจสอบ คุณคิดว่าศูนย์จะส่งต่อให้ใคร แล้วเขาจะตอบกลับมาว่าอย่างไร / จบข่าว “นะจ๊ะ”
แต่ถ้าใครเคยเห็นศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก.ดิจิทัลฯ เอาข่าวที่ออกจากภาครัฐมาปั๊มตราว่า ‘ข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือน’ แล้วเผยแพร่ทางช่องทางต่างๆ ของศูนย์ ช่วยส่งมาให้เราดูหน่อยนะ
– อยากรู้ว่า รอง ผอ.ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก.ดิจิทัลฯ พูดถึงขั้นตอนการทำงานแบบที่เราเขียนมาจริงไหม ลองไปดูกันได้ที่ https://www.facebook.com/themirrornewsth/videos/910191019581708/ (ระหว่างนาที 36:00 ถึงชั่วโมงต้นๆ)
.
.
ชวนย้อนดูความพยายามของ The MATTER ในการพิสูจน์ว่าทามไลน์ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ที่รัฐเคยบอกว่าจะมาเดือนละ 6-10 ล้านโดส เป็น ‘ข่าวจริง’ หรือ ‘ข่าวปลอม’ ผ่านกลไกของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ก.ดิจิทัลฯ ที่จนบัดนี้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังไม่มีใครตอบกลับมาเลย
– https://thematter.co/brief/149485/149485
– https://thematter.co/brief/150037/150037
– https://thematter.co/brief/150445/150445
#Brief #TheMATTER