นอกจากประเทศไทย ชิลีเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนตัวหลักในการฉีดให้ประชาชน โดยหลังจากเริ่มฉีดได้ระยะเวลาหนึ่ง หน่วยงานสาธารณสุขชิลีได้เผยแพร่ผลการศึกษาการใช้วัคซีนในประเทศ พบว่า วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ 58.5%
ดร.ราฟาเอล อาเราส์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเปิดเผยว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลการใช้วัคซีนจริงในชิลี ซึ่งมี 3 ยี่ห้อได้แก่ ซิโนแวค จากอาสาสมัคร 8.6 ล้านคน, ไฟเซอร์ จากอาสาสมัคร 4.5 ล้านคน และแอสตร้าเซนเนก้าจากอาสาสมัคร 2.3 ล้าน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม โดยมีการเทียบทั้งคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ฉีดวัคซีนแล้ว 1 เข็ม และครบ 2 เข็ม
จากนั้นนำมาสรุปผลการศึกษาแล้วพบว่า ซิโนแวคมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ 58.5% ป้องกันการป่วยเข้าโรงพยาบาล 86% ป้องกันการป่วยหนัก 89.7% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 86%
ในการศึกษาเดียวกันยังเผยให้เห็นผลการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการป่วย 67% ป้องกันการเข้าโรงพยาบาล 85% และป้องกันการเสียชีวิต 80% ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ซิโนแวคยังมีความสามารถในการป้องกันการป่วยหนักได้อยู่ แต่ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อลดลง
ขณะที่ วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ในชิลีอยู่ที่ 87.7% ป้องกันการป่วยหนักเข้าห้องไอซียู 98% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ 68.7% ป้องกันการป่วยหนัก 98% และป้องกันการเสียชีวิต 100%
ดร.ราฟาเอล กล่าวว่า การลดลงของประสิทธิภาพวัคซีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณสมบัติในการหลบเลี่ยงภูมิต้านทาน และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เร็วขึ้นอย่างสายพันธุ์เดลตา
“หาก COVID-19 สายพันธุ์เดลตาเริ่มระบาดในวงกว้างมากกว่านี้ และวัคซีนมีการตอบสนองที่น้อยลง เราจะสังเกตเห็นการร่วงหล่นที่รวดเร็วของประสิทธิภาพวัคซีน” ดร.ราฟาเอลกล่าวพร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนมากระตุ้นเข็มที่ 3
อ้างอิงจาก
https://www.reuters.com/…/sinovacs-covid-19-vaccine…/
https://www.reuters.com/…/sinovacs-covid-19-vaccine-58…
https://news.google.com/covid19/map?hl=th…