หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เริ่มบ่งชี้ว่า วัคซีนที่ถึงแม้จะมีประสิทธิภาพสูง ในการป้องกันเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม กลับมีประสิทธิภาพลดลง เมื่อเจอเข้ากับเชื้อเดลตา ทั้งนี้ มีนักวิจัยในสหราชอาณาจักรได้ออกมาแนะนำว่า เราควรมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับเชื้อเดลตาโดยเฉพาะ
การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกในตอนนี้ ถูกครอบคลุมโดยเชื้อสายพันธุ์เดลตาเสียเป็นส่วนใหญ่ “การพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับเชื้อเดลตา จึงอาจเป็นหลักประกันสำคัญ” หนึ่งในนักวิจัยจากงานวิจัย React-1 ของสหราชอาณาจักรกล่าว
ข้อเสนอแนะนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่นักวิจัยพบว่า หนามโปรตีนของไวรัสสายพันธุ์กลายพันธุ์เดลตา ได้กลายร่างตัวเองไปสู่จุดที่ภูมิคุ้มกัน ซึ่งสร้างขึ้นในร่างกายหลังจากการได้รับวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้น้อยลงแล้ว
ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนก้าวหน้าอย่าง สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และอิสราเอล ต่างกำลังเผชิญหน้า อยู่กับการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา ซึ่งส่งผลให้มีผู้ป่วยต้องเข้านอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี งานศึกษาจากสหราชอาณาจักรฉบับนี้ยังพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดส จะลดโอกาสการติดเชื้อเดลตาได้ประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์
การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา ยังอาจนำมาซึ่งการกลายพันธุ์ของเชื้อชนิดใหม่ได้ ล่าสุด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ ได้ออกมาขอร้องให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน รีบเข้ารับการฉีด เนื่องจากพวกเขาเกรงว่า สถานการณ์ของการที่ผู้คนยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จะนำไปสู่การกลายพันธุ์ใหม่ๆ ของไวรัส ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า เชื้อจะมีอนุภาพที่รุนแรงมากขึ้นขนาดไหน
การติดเชื้อเดลตา เริ่มเกิดเพิ่มเล็กน้อยในหมู่ประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส เช่นเดียวกันกับประชากรที่ได้รับวัคซีนคุณภาพสูง ทั้งนี้ มีประชากรโลกประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว และส่วนใหญ่มาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว
ในสหราชอาณาจักรมีการพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่กว่าครึ่งในตอนนี้ อยู่ในคนช่วงวัย 5-24 ปี ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ นอกจากวัคซีนป้องกันเชื้อเดลตาโดยเฉพาะ นักวิจัยยังได้แนะนำว่า ควรมีการเร่งการฉีดวีคซีนให้แก่คนในช่วงวัย 12-17 ปี ให้ได้มากที่สุด เพื่อลดอัตราสัดส่วนการติดเชื้อที่ไม่สมดุลกัน ระหว่างช่วงวัยของกลุ่มประชากร ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
“การเร่งการฉีดวัคซีนจะเป็นกำแพงป้องกัน ซึ่งหมายความว่า เราจะช่วยลดมาตรการต่างๆ ได้ลงอย่างระมัดระวัง และกลับมาทำในสิ่งที่เรารักได้ แต่เรายังมีความจำเป็น ที่จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสได้” ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร กล่าวในแถลงการณ์เกี่ยวกับรายงานฉบับนี้
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER