เมื่อวันที 6 ส.ค.2564 ศาลแพ่งรับคำฟ้องของตัวแทน 2 สื่อ คือ PLUS SEVEN และ The MATTER เรียกค่าเสียหายรวมกัน 1.4 ล้านบาท กรณีถูกตำรวจยิงกระสุนเข้าใส่ระหว่างทำข่าวการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564 ทำให้ได้รับบาดเจ็บ แม้จะสวมปลอกแขนสีขาวแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นสื่อมวลชนอย่างชัดเจน และไม่มีการแสดงท่าทีคุกคามหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจแต่อย่างใด
แต่รับคำฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สนช.) แต่ยกคำฟ้องจำเลยที่ 2-4 ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.), ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) และผู้บังคับการกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ จึงได้รับยกเว้นความรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
ส่วนคำขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้จำเลยทั้ง 4 สั่งการ ไม่ให้ตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนด้วยความรุนแรง เช่น ใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา หรือน้ำผสมสารเคมี กับสื่อมวลชนและประชาชน, ให้คำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน และให้ควบคุมฝูงชนตามหลักสากลและหลักการตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในการชุมนุมสาธารณะ ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.2564 เป็นต้นไป ศาลแพ่ง ‘ยกคำร้อง’ เพราะมองว่า เป็นการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
วันเดียวกัน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ยังประชาสัมพันธ์ให้สื่อมวลชนที่ไปร่วมทำข่าวการชุมนุมสาธารณะ ในวันที่ 7 ส.ค.2564 จะต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับปลอกแขนที่ตำรวจออกให้ ซึ่งขัดกับ ‘ข้อตกลง’ ที่ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เคยพูดคุยกับ ผบช.น. ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2564 หลังเกิดกรณีตำรวจยิงกระสุนยางใส่ผู้สื่อข่าวจากประชาไท ระหว่างทำข่าวการชุมนุมในวันที่ 20 มี.ค.2564 จนได้รับบาดเจ็บ โดยหนึ่งในข้อตกลงคือจะใช้สื่อมวลชนใช้ปลอกแขนที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นผู้ออกให้เท่านั้นเป็นสัญลักษณ์แสดงตน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่บางคนแฝงตัวมาเป็นสื่อมวลชนติดตามการชุมนุม และให้ตำรวจเคารพการทำงานของสื่อมวลชน โดยจัด ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในการทำงาน แต่ไม่ใช่การกันออกนอกพื้นที่
#Brief #TheMATTER