ไทยเองมีการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ในประเทศ จากหลากหลายสถาบัน เช่นเดียวกันกับวัคซีนชนิดพ่นจมูกป้องกัน COVID-19 ซึ่ง ไบโอเทค สวทช. เพิ่งประกาศว่า พวกเขาเพิ่งพัฒนาวัคซีนดังกล่าวได้แล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนรอการทดสอบทางคลินิกต่อไป
เพจเฟซบุ๊ก NSTDA – สวทช. แจ้งข่าวว่า ทีมนักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพิ่งพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 แบบพ่นจมูกได้สำเร็จ โดยวัคซีนตัวนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ ลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียง ต่อรับสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์ได้
สวทช. ระบุว่า เนื่องจากขั้นตอนการพัฒนาวัคซีน ผ่านการทดลองในสัตว์และทดสอบในมนุษย์ ตลอดจนกำลังการผลิตวัคซีนที่ค่อนข้างจำกัด จึงทำให้หลายประเทศในทั่วโลก เข้าถึงวัคซีนได้ช้า ทำให้ไม่ทันต่อการตอบรับสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังระบาด สถาบันวิจัยทั้งของภาครัฐและเอกชนในหลายที่ จึงเริ่มทำการพัฒนาวัคซีน เพื่อใช้เองในประเทศ เช่นเดียวกับวัคซีนชนิดพ่นจมูกนี้ ที่ไบโอเทคเพิ่งพัฒนาสำเร็จ
วัคซีนแบบพ่นจมูกตัวนี้ จัดอยู่ในวัคซีนชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based ได้ผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลอง ก่อนจะพบว่ามีประสิทธิภาพต่อการป้องกันโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อมูลที่ได้จะผลักดันให้เป็นวัคซีนต้นแบบป้องกันโรค COVID-19 สามารถนำไปทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครต่อไป
อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. ระบุว่า ทีมวิจัยได้เริ่มพัฒนาวัคซีน มาตั้งแต่การเริ่มระบาดในประเทศจีนในเดือนมกราคม พ.ศ.2563 ด้วยวิธีการสังเคราะห์ยีนสไปค์ของไวรัสขึ้นเอง และนำยีนดังกล่าวไปใช้เป็นแอนติเจนหรือโปรตีนกระตุ้นภูมิในรูปแบบต่างๆ พร้อมกับการนำเทคโนโลยีเชิงลึกมาใช้ ที่ทำให้ไวรัสให้มีความอ่อนเชื้อลง และไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่ม
อนันต์ระบุเพิ่มเติมว่า ทาง สวทช.ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 แบบพ่นจมูก ออกมาได้ 2 ชนิด คือ วัคซีนชนิด Adenovirus ที่ผ่านการทดลองในหนูแล้วไม่พบผลข้างเคียง โดยจะมีการร่วมมือกับบริษัท KinGen BioTech และกำลังจะทดสอบวัคซีนนี้ ในอาสาสมัครมนุษย์ ในรูปแบบวัคซีนที่สร้างจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาเร็วๆ นี้ และ วัคซีนชนิด Influenza virus ซึ่งก็มีผลลัพธ์ที่ออกมาดีด้วยเช่นกัน และจะมีการยื่นเอกสารต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอทดสอบในมนุษย์ โดยจะร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งจะทดสอบกับเชื้อเดลตาด้วยเช่นกัน
วัคซีนแบบพ่นจมูก ถูกออกแบบมาเพื่อส่งวัคซีนไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ในเยื่อเมือกของระบบทางเดินหายใจส่วนบนโดยตรง ซึ่งเชื้อ COVID-19 มักจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก และก่อตัวขึ้นในโพรงจมูกก่อนที่จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายรวมถึงปอด
นอกจากนี้ วัคซีนแบบพ่นจมูก จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในเยื่อเมือกระบบทางเดินหายใจส่วนบน และจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วและดีกว่าวัคซีนแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ รวมถึงสามารถกระตุ้นการผลิต อิมมูโนโกลบูลินเอ (Ig A) ที่จำเพาะต่อแอนติเจน และเม็ดเลือดขาวชนิด T cell ในทางเดินหายใจช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบฆ่าเชื้อ ซึ่งสามารถสกัดกั้นไวรัสและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อสู้กับไวรัสป้องกันการติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย และลดโอกาสที่ผู้คนจะแพร่เชื้อไวรัสต่อได้ อีกทั้งตัววัคซีนจะตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ใหม่ ที่จะอุบัติขึ้นได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ด้วย
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/NSTDATHAILAND/posts/4092604774181809
#Brief #TheMATTER