“ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วจะยังคงติดเชื้อกลายพันธุ์เดลตาได้ และมันหมายความว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง ใครก็ตามที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พวกเขาจะติดเชื้อไวรัส และเราไม่มีอะไรที่จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ (อย่างสมบูรณ์แบบ)” คือถ้อยแถลงของ แอนดรูส์ พอลลาร์ด หัวหน้ากลุ่มวัคซีนมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ที่กล่าวต่อรัฐสภาอังกฤษ
พอลลาร์ดระบุว่า การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะเป็นเรื่องที่ “ไม่มีทางเป็นไปได้” เลย เมื่อมีตัวแปรอย่างการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีอัตราการแพร่เชื้อได้สูงกว่าเชื้อชนิดอื่นก่อนหน้านี้ และมันยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า วัคซีนกลับมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการติดเชื้อเชื้อเดลตาน้อยลงด้วย
แล้วอะไรคือภูมิคุ้มกันหมู่ ที่พอลลาร์ดเพิ่งบอกว่าอาจเกิดขึ้นไม่ได้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ คือ ภาวะที่มีคนจำนวนมากพอในสังคม มีภูมิคุ้มกันโรค COVID-19 จนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตอีก ซึ่งภูมิคุ้มกันหมู่ จะเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อผู้คนหายจากโรค หรือมีการฉีดวัคซีนจำนวนมากพอ ซึ่งเป็นหนทางที่โลกเรากำลังทำอยู่นั่นเอง
“ปัญหาของไวรัสตัวนี้ (COVID-19) คือ มันไม่ใช่โรคหัด เพราะเมื่อมีประชากรจำนวน 95 เปอร์เซ็นต์ ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดแล้ว ไวรัส (หัด) ก็จะไม่สามารถแพร่ระบาดในประชากรได้” พอลลาร์ดกล่าว โดยนำโรคหัดมาเปรียบเทียบกับ COVID-19 ว่ามันมีลักษณะที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากเชื้อเดลตา ยังสามารถแพร่ระบาดในผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว และมันจะถูกส่งต่อเชื้อไปสู่ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนด้วยเช่นกัน
จากงานวิจัยล่าสุด ของอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนระบุว่า ประชากรวัย 18 ถึง 64 ปี ที่ได้รับวัคซีนแล้ว จะมีอัตราเสี่ยงในการติดเชื้อเดลตาที่ 49 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน งานวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว มีโอกาสพบค่าบวกว่าติดเชื้อ หลังการทดสอบลดลง 3 เท่า เมื่อสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ COVID-19 หรือ 3.84 เปอร์เซ็นต์ ลดลงมาจากค่าเดิมที่ 7.23 เปอร์เซ็นต์
ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเดลตาจะลดต่ำลง แต่วัคซีนยังคงช่วยลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตลงได้ อย่างไรก็ดี สหราชอาณาจักรกำลังวางแผน ที่จะมีการฉีดกระตุ้นโดสที่สาม ให้แก่กลุ่มเปราะบาง ในทางตรงกันข้าม พอลลาร์ดเสนอว่า “เวลาที่เราต้องการจะให้มีการฉีดกระตุ้น คือ เวลาที่เราเห็นว่า มันมีหลักฐานในกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ว่าพวกเขามีอัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น หรือมากไปกว่านั้น คือการที่มีผู้คนเริ่มเสียชีวิตมากขึ้น และเรายังไม่เห็นช่วงเวลาเหล่านั้นว่ามันกำลังเกิดขึ้น”
ข้อถกเถียงสำคัญในตอนนี้ก็คือ ควรมีการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีได้แล้วหรือยัง เนื่องจากผลลัพธ์ในประเทศต่างๆ ที่เริ่มกลับมามีการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา ถึงแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่จำนวนมากแล้วอย่าง สหรัฐฯ หรือ อิสราเอล ก็ตาม นอกจากนี้ ข้อถกเถียงสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศที่เริ่มให้มีการฉีดกระตุ้นโดสที่สาม คือความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีน ระหว่างประเทศยากจนบางแห่ง ที่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ กับประเทศร่ำรวยที่จะมีหรือมีการฉีดกระตุ้นโดสที่สามไปแล้ว
อ้างอิงจาก
https://spiral.imperial.ac.uk/bitstream/10044/1/90800/2/react1_r13_final_preprint_final.pdf
https://www.bbc.com/thai/51911994
#Brief #TheMATTER