ในไทยมีการตั้งข้อสังเกต ถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากอาการข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน ในทางตรงกันข้าม ประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างสิงคโปร์เพิ่งมีมติให้จ่ายเงินเยียวยาจำนวน 225,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 5.5 ล้านบาท) ให้แก่เด็กวัย 16 ปี หลังเขามีอาการข้างเคียงเมื่อรับวัคซีนโดสแรก
โครงการความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับผลกระทบจากวัคซีน (VIFAP) คือโครงการของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อมอบเงินเยียวยาให้แก่ผู้ที่เกิดผลกระทบ หลังจากการเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยในวันนี้ (16 สิงหาคม) โครงการเพิ่งมีมติมอบเงินที่คิดเป็นมูลค่ากว่า 5.5 ล้านบาท ให้แก่เด็กวัย 16 ปี เพราะเขาเกิดอาการข้างเคียง หลังเข้ารับวัคซีนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุว่า เด็กชายวัย 16 ปี กำลังเข้ารับการรักษาตัว และสามารถดำเนินกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันได้ โดยไม่ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ “เขาน่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ในอีกสัปดาห์ที่จะถึงนี้ แต่มีแนวโน้มว่าเขาจะต้องพักรักษาตัวต่ออีกระยะหนึ่ง ถึงจะสามารถกลับไปยังโรงเรียน และทำกิจกรรมอื่นๆ ได้” แถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขระบุ
เด็กชายวัย 16 ปี รายดังกล่าว เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เขาออกกำลังกาย ที่ต้องใช้การยกน้ำหนักที่สูง ซึ่งเป็นเวลา 6 วัน หลังจากที่เขาเข้ารับการฉีดวัคซีนในโดสแรก ผลข้างเคียงทำให้เขาเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบชนิดรุนแรง จนนำไปสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ยอมรับว่า อาการรุนแรงดังกล่าวเป็นผลลัพธ์จากการฉีดวัคซีน
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ระบุเพิ่มเติมว่า อาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากการยกของหนัก และการบริโภคคาเฟอีนของเด็กรายดังกล่าว ในปริมาณมากจากเครื่องดื่มชูกำลัง หรืออาหารเสริมอื่นๆ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันหลังการรับวัคซีน ทั้งนี้ ทางกระทรวงจะจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวภายในงวดเดียว ให้แก่ครอบครัวของเด็ก
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ได้ออกคำเตือนว่า ขอให้ประชาชนงดการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาก เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังการฉีดวัคซีนโดสแรกและโดสที่สอง โดยถ้าหากพบว่าหลังการฉีดวัคซีน แล้วมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรเดินทางไปพบแพทย์ในทันที อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย หลังรับวัคซีน mRNA โดสแรก ไม่ควรรับวัคซีนเพิ่มอีกในชนิดเดียวกัน
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER