มติ ศบค.ชุดใหญ่วานนี้ หนึ่งในสิ่งที่หลายๆ คนวิพากษ์วิจารณ์คือการสั่งวัคซีน Sinovac เข้ามาเพิ่มอีก 12 ล้านโดส ทั้งๆ ที่เป็นวัคซีน COVID-19 ซึ่งมีประสิทธิภาพไม่สูงมากนักจนต้องคิดค้นสูตรการฉีดวัคซีนไขว้ยี่ห้อ
เอาเข้าจริง ปัญหาวิกฤต COVID-19 ของไทยมีไม่เพียงพอ ถ้าย้อนไปดูที่มาจริงๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่วัคซีน AstraZeneca ซึ่งผลิตโดยโรงงาน Siam Bioscience ส่งมาให้ไม่ถึงเดือนละ 10 ล้านโดส ตามที่คนในรัฐบาลเคยประกาศไว้ จนต้องไปหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า อย่างวัคซีน Sinovac เข้ามาอุด ซึ่งกระทบต่อการเดินหน้าฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน
ทีนี้ ก็มีหลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2560 จำกัดการส่งออกวัคซีน AstraZeneca หนึ่งในนั้นคือข้อเสนอของ นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เขียนบทความเสนอให้จำกัดการส่งออกวัคซีน AstraZeneca เหลือ 35% โดยเฉพาะในเดือน ก.ย.และ ต.ค.2564 ที่เขามองว่าจะเป็นช่วงเวลา ‘วิกฤตของการฉีดวัคซีน COVID-19’ – เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?
นพ.วิชช์อธิบายว่า ในเดือน ก.ย.และ ต.ค.2564 จะเป็นช่วงที่คนที่เคยได้วัคซีน AstraZeneca เข็มแรกหลายล้านคนมีกำหนดจะได้เข็มสอง รวมถึงคนที่ได้วัคซีนไขว้ยี่ห้อ เมื่อฉีดวัคซีน Sinovac เป็นเข็มแรก และอีก 3 สัปดาห์ ให้มาฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มสอง “ทำให้การจัดหาวัคซีน AstraZeneca ให้เพียงพอจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่”
ปัญหาการของวัคซีนไม่เพียงพอ ทำให้คนไทยเสียชีวิตวันละเฉลี่ย 200 คน โดย 70% จะเป็นประชากร ‘กลุ่ม 608’ คือ ผู้สูงวัย (อายุเกิน 60 ปี) ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์
ข้อมูลจนถึงวันที่ 14 ส.ค.2564 ประชากรกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนหนึ่งเข็มราวหนึ่งในสาม และครบสองเข็มต่ำกว่า 10% ซึ่งหากต้องการลดยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้ลงไปราวครึ่งหนึ่ง (จากราว 140 คน ให้เหลือไม่เกิน 70 คน) ก็จะต้องฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคนในช่วงเดือน ก.ย.และ ต.ค.2564 ซึ่งหากทำได้จะช่วยรักษาชีวิตคนไทยได้ถึง 2,000 คนต่อเดือน แลอาจมากถึงหมื่นราย ถ้ารวมการช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยในเดือนถัดๆ มา
นพ.วิชช์ระบุว่า ที่ผ่านมา จึงมีแพทย์และนักวิชาการหลายๆ คนเรียกร้องให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ จำกัดการส่งออกวัคซีน AstraZeneca จาก 65% เหลือ 35% ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับวัคซีนนี้ ในเดือน ก.ย.และ ต.ค.2565 เป็นเดือนละ 10 ล้านโดส จากปัจจุบันได้อยู่ราว 5 ล้านโดส ที่แม้จะมีผู้ทักท้วงว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บางมาตรา หรืออาจสร้างปัญหาด้านการค้า แต่ชีวิตของคนไทยก็เป็นเหตุผลที่หนักแน่น และสัญญาที่เปิดเผยออกมา ก็ไม่มีข้อไหนทีผูกมัดห้ามประเทศไทยอย่างเด็ดขาด
“ทางกลุ่มประชาชนและนักวิชาการจึงอยากจะเรียกร้องให้ ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกุล ได้มีจิตใจที่แน่วแน่และเด็ดเดี่ยวที่จะใช้อำนาจตามกฎหมาย ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตาม. พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ มาตรา 18 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้อำนาจรัฐตามหลักนิติธรรมที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติให้ตรงจุดอย่างมีเหตุมีผลตามความจำเป็น ในการลดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน AstraZeneca ในเดือน ก.ย.และ ต.ค.2564 โดยให้ลดลงต่ำกว่า 35% ซึ่งจะทำให้มีวัคซีนอีกกว่า 10 ล้านโดสให้คนไทยได้อย่างทันกับสถานการณ์การระบาดและการตายจากโรค COVID-19 จะเป็นเครื่องนำทางประเทศไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤต COVID-19 โดยลดความสูญเสียชีวิตคนไทยนับพันนับหมื่นคนลง” บทความของ นพ.วิชช์ระบุทิ้งท้าย
#Brief #TheMATTER