นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ หลังทีมนักประสาทวิทยาจากประเทศเยอรมนีประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘ขั้วประสาทตา’ ที่เป็นรากฐานของการพัฒนาตาทั้งลูก จากสมองขนาดจิ๋วที่ถูกพัฒนาขึ้นจากสเต็มเซลล์ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจนำไปต่อยอดในการศึกษาเกี่ยวกับการรักษาโรคทางดวงตาในมนุษย์ได้
สำหรับกรณีนี้ สเต็มเซลล์ถูกเพาะเลี้ยงให้เติบโตในก้อนเนื้อเยื่อสมอง โดยที่ไม่มีความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึกใดๆ เจ้าสมองตัวนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการวิจัยที่ไม่สามารถทำกับสมองจริงได้ หรือมีข้อจำกัดตามหลักศีลธรรมต่างๆ เช่น การทดลองยา เป็นต้น
เดิมที การสร้างลูกตาจากเพื่อศึกษานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์หลายคนมักใช้วิธีเอาเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อนมนุษย์ (Embryonic Stem Cell) เพื่อสร้างขั้วประสาทตา (optic cup) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่นำไปสู่การพัฒนาลูกตาทั้งหมดในระหว่างพัฒนาตัวอ่อน แต่แทนที่จะพัฒนาโครงสร้างนี้โดยตรง ทีมศึกษาของ Gopalakrishnan ต้องการดูว่าดวงตาเหล่านี้เติบโตอย่างไร
ก่อนเขาจะพบว่าสมองจิ๋วนั้นค่อยๆ สร้างขั้วประสาทตาในช่วง 30 วันแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับเวลาที่ทารกจะเริ่มพัฒนาดวงตาระหว่างอยู่ในครรภ์ และจะเริ่มสังเกตเห็นโครงสร้างอื่นๆ ชัดเจนขึ้นประมาณ 50 วัน ทีมวิจัยได้ใส่วิตามินเอเข้าไปในจานเพาะเลี้ยงสมอง เพื่อกระตุ้นให้สมองจิ๋วนี้สร้างเซลล์จอประสาทตาเรื่อยๆ จนกระทั่งสมองจิ๋วสามารถสร้างขั้วประสาทตาขึ้นมา 2 ข้างและเชื่อมต่อกับสมอง ไม่แตกต่างจากของมนุษย์
สำนักข่าวบีบีซีไทยยังบอกด้วยว่า ในขั้วประสาทตา จะมีเซลล์จอประสาทตาอยู่หลายประเภทรวมกันเป็นเครือข่าย ซึ่งสามารถตอบสนองแสดงสว่างได้เป็นอย่างดี รวมถึงมีเซลล์เลนส์แก้วตา และเซลล์กระจกตาด้วย
ในการทดลองครั้งนี้ ทีมศึกษาได้เพาะเลี้ยงสมองขึ้นมาทั้งหมด 314 ชิ้น โดยมีขั้นประสาทตางอกขึ้นมาถึง 73% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สำหรับนำไปศึกษากับโรคทางดวงตาต่อไป ซึ่งหากโชคดี การศึกษานี้อาจเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่วิวัฒนาการด้านการรักษาดวงตาในอนาคตเลยก็ได้
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/thai/international-58278024
https://www.sciencealert.com/scientists-used-stem-cells…
https://www.livescience.com/brain-organoid-optic-eyes.html