ไทยยังคงเจอกับการระบาดของเชื้อเดลตา ซึ่งเป็นเชื้อส่วนใหญ่ที่ระบาดครอบคลุมทั่วทั้งประเทศไทยกว่า 92.9 เปอร์เซ็นต์แล้ว อย่างไรก็ดี เพิ่งการพบผู้ป่วยรายใหม่ ที่มีการติดเชื้อเดลตาสายพันธุ์ย่อยในไทยแล้ว แต่ยังไม่มีอาการรุนแรงกว่าเดิม และยังคงรักษาตัววิธีการเดิม
วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงถึงการกลายพันธุ์ย่อยในเชื้อเดลตาว่า ประเทศไทยพบการกลายพันธุ์ของเชื้อเดลตาสายพันธุ์ย่อยแล้ว 4 สายพันธุ์ย่อย โดยแบ่งเป็น ได้แก่ AY.4 พบ 9 คน, AY.6 พบ 1 คน, AY.10 พบ 1 คน, และ AY.12 พบ 1 คน
ทั้งนี้ เชื้อเดลตาจะมีการกลายพันธุ์ในสายพันธุ์ย่อยได้อีกถึง 27 สายพันธุ์ย่อย และอาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ วสันต์ระบุว่า เดลตากลายเป็นสายพันธุ์หลักสายพันธุ์เดียวในตอนนี้ของโลก และมันจะกลายพันธุ์ย่อยไปเรื่อยๆ คล้ายกันกับตอนแรกที่มีการระบาดของเชื้ออู่ฮั่น ก่อนจะกลายพันธุ์เป็นอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา อย่างในช่วงเวลาที่ผ่านมา
วสันต์กล่าวเสริมว่า เชื้อเดลตามีการกลายพันธุ์ย่อยในตัวของมันเอง เนื่องจากมีอัตราการแพร่ระบาด ที่ค่อนข้างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งต่างจากเชื้ออัลฟา ที่ไม่มีสายพันธุ์ย่อย เนื่องจากการแพร่ระบาดไม่ได้รวดเร็วมาก จนทำให้สุดท้ายเชื้ออัลฟาจึงค่อยๆ ลดตัวลงไปเรื่อยๆ เอง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุเพิ่มเติมว่า เชื้อกลายพันธุ์ย่อยที่พบในไทย เกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเชื้อเดลตาหลัก ที่ระบาดในไทยอยู่แล้ว โดยไม่ว่าจะสายพันธุ์ย่อย AY ใดๆ ก็ตาม ไม่ได้มีเฉพาะแค่ในไทยเท่านั้น แต่สามารถพบได้ในหลายที่ทั่วโลก โดยยืนยันว่า มันไม่ใช่พันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ไทย
นพ.ศุภกิจ ระบุเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดี ทางการจะยังคงจับตาการกลายพันธุ์ต่อไป โดยสถานการณ์ตอนนี้ยังคงเป็นการกลายพันธุ์ย่อยที่พบได้ทั่วไป ทั้งนี้ หากมีสายพันธุ์ย่อยที่เริ่มระบาดลุกลามเป็นวงกว้างอย่างผิดปกติ จึงจะค่อยมีการมาดูในรายละเอียดว่าเชื้อตัวใหม่นี้ จะส่งผลอย่างไรต่อระบบการควบคุมหรือไม่ ทั้งนี้ ยืนยันว่าบางสายพันธุ์อาจโผล่ขึ้นมาสักพักเดียว ก่อนที่มันจะหายไปเอง
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ขยายความเพิ่มเติมว่า ทุกตัวของสายพันธุ์เดลตาย่อย ยังคงคุณสมบัติที่ทำให้มีการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว โดยการพบยังคงพบอยู่เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ทั้ง 4 สายพันธุ์ย่อยพบครั้งแรกในประเทศแถบยุโรป จึงยังยืนยันไม่ได้ว่าสรุปเกิดขึ้นเองในไทย หรือนำเข้ามาจากต่างประเทศอีกที
ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าสายพันธุ์ย่อยเหล่านี้รุนแรงใดๆ มากขึ้น และยังไม่มีการจัดประเภทให้เป็นสายพันธุ์ที่ถูกจับตามอง ส่วนผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยยังคงรักษาด้วยวิธีการเช่นเดียวกันกับสายพันธุ์เดลตาตั้งต้น และยังไม่มีอาการที่รุนแรงขึ้น
#Brief #TheMATTER