ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ทำให้แต่ละประเทศต้องปิดโรงเรียนชั่วคราว นำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยวและเครียดของเด็ก ขณะที่พวกเขาอยู่แต่ในบ้านและออกไปไหนไม่ได้ จนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตายในเด็กที่พุ่งสูงขึ้น โดยหนึ่งในประเทศที่เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ขึ้น คือ ญี่ปุ่น
เมื่อปีที่แล้ว ที่ COVID-19 ระบาดหนักในญี่ปุ่น มีรายงานพบนักเรียนอย่างน้อย 499 ราย ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ตัวเลขการฆ่าตัวตายเพียงครึ่งปีแรกของ ค.ศ.2021 กลับมีสถิติการฆ่าตัวตายในเด็ก มากกว่าตัวเลขของปีก่อนเสียด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ หลายโรงเรียนในญี่ปุ่นจึงเริ่มให้มีการมอบคำปรึกษา และทำแบบประเมินสุขภาพจิตให้แก่เด็กๆ เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ลดความสูญเสียในลักษณะนี้ลง
โรงเรียนแห่งหน่งในจังหวัดวากายามะของญี่ปุ่น เปิดให้มีการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแก่เด็กนักเรียนของพวกเขา โดยผู้บริหารโรงเรียนระบุว่า นักเรียนกว่า 140 คนของพวกเขา มีลักษณะบ่งบอกว่าเด็กๆ น่าจะมีภาวะป่วยทางจิตใจ หลังจากที่พวกเขาไม่สามารถออกไปไหนได้
“คุณจะพบได้ว่าคุณเริ่มมีปัญหาทางสุขภาพจิต เมื่อคุณเห็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ หรือพฤติกรรมของตัวเองเกิดขึ้น” ฟูจิตะ เอริโกะ นักจิตวิทยาระบุกับ The Japan Times โดยงานวิจัยของเขาพบว่า เด็กระดับประถมหลายคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ในขณะที่โรงเรียนถูกปิด จากการระบาดของ COVID-19 เช่น พวกเขากินขนมหวานมากขึ้น หรือใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเด็กๆ มีภาวะความเครียดที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น ที่เปิดการสัมนาเพื่อเชิญชวนให้นักเรียนเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ จากการเกิดภาวะการป่วยทางจิตใจ “มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย ที่คุณจะส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือออกมา” เด็กหญิงที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวระบุ
เช่นเดียวกันกับโรงเรียนแห่งหนึ่งในโอซากา ที่พวกเขาทำแอพพลิเคชั่น เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถทำแบบประเมินวัดสุขภาพทางใจ เพื่อส่งมายังโรงเรียน โดยในการทำการประเมินสุขภาพจิตของเด็กๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งจะมีแถบประเมินเป็นสัญลักษณ์ แดดจ้า ฟ้าครื้ม ฝนตก และฟ้าผ่า เพื่อให้เด็กๆ กดว่าวันนี้เขาและเธอมีความรู้สึกคล้ายกับสัญลักษณ์ใดมากที่สุด เพื่อทำการประเมิน และให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่เริ่มมีอาการเครียด แอพพลิเคชั่นดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากทางการของเมืองโอซากาอีกด้วย
โนดะ เท็ตซูโระ ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเฮียวโกะระบุว่า การรองรับสภาพแวดล้อมของนักเรียน ที่จะเอื้อต่อการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เมื่อพวกเขามีปัญหาเกิดขึ้นทางจิตใจจะช่วยเด็กได้มาก และโรงเรียนก็ควรมีความพร้อม ที่จะมีการตอบรับเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลควรเพิ่มจำนวนครู ที่จะคอยเข้ามาดูแลในด้านสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER