ประชาคมโลกได้ตกลงกัน ให้วันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผู้สูญหายสากล เพื่อที่จะรำลึกถึงเหยื่อของการถูกบังคับสูญหาย จากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ภาวะสงคราม การปราบปรามจากภาครัฐ หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
ทางการไทยรายงานต่อคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ไทยมีผู้ถูกบังคับสูญหายจำนวน 87 ราย ซึ่งเป็นการสูญหายจากหลายเหตุการณ์ เช่น กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ กรณีนักปกป้องสิทธิ หรือ กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พฤษภาคม พ.ศ.2535 เป็นต้น
กรณีการถูกอุ้มหายในไทย ปรากฏให้เห็นอยู่เรื่อยมา และยังเป็นอีกหนึ่งประเด็น ที่ทำให้เกิดการลุกขึ้นประท้วงต่อต้านรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรอบปีกว่าที่ผ่านมา หลัง ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักกิจกรรมและผู้ลี้ภัยการเมืองไทย ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา เมื่อ พ.ศ.2563 จนมีกระแส #saveวันเฉลิม ปัจจุบัน การหายตัวไปของวันเฉลิมยังคงไม่มีความคืบหน้า และเต็มไปด้วยเงื่อนงำ
ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชน ได้ร่วมกันรณรงค์ให้รัฐสภา พิจารณาและผ่านกฎหมาย พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย อย่างไรก็ดี การพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวยังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ถึงแม้รัฐสภาจะอ้างว่ามีการบรรจุร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อเตรียมพิจารณาแล้ว แต่ทุกอย่างยังคงไม่มีความเคลื่อนไหวไปมากกว่าแค่รับเรื่องเอาไว้ นับตั้งแต่กลาง พ.ศ.2563
สหประชาชาติอาศัยประกาศและกฎบัตรต่างๆ จำนวนกว่า 13 ฉบับ เพื่อสนับสนุนให้แต่ละรัฐสมาชิก ได้ออกกฎหมายเพื่อป้องกันการถูกบังคับสูญหาย ก่อนที่ใน ค.ศ.2010 จะมีการประกาศตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ให้ทุกวันที่ 30 สิงหาคม เป็นวันผู้สูญหายสากล และจัดให้มีคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ ติดตามความคืบหน้ากรณีผู้สูญหายในแต่ละรัฐ มาตั้งแต่ ค.ศ.2011
“การลอยนวลพ้นผิด สร้างความทุกข์ทรมาณและความปวดร้าว ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ครอบครัว และสังคม ควรจะมีสิทธิที่จะได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น (กับผู้ถูกบังคับสูญหาย) ผมขอให้รัฐสมาชิกต่างๆ ได้ช่วยมีส่วนร่วม ในการทำให้ความรับผิดชอบในเรื่องนี้สำเร็จผล” อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าว
อย่างไรก็ดี รัฐไทยยังคงไม่มีกลไลในการป้องกันประชาชนจากการถูกบังคับสูญหาย และยังไม่มีกฎหมายลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ที่บังคับสูญหายประชาชนด้วยเช่นกัน และเรายังไม่รู้ว่า ด้วยกลไกที่ไร้ซึ่งการรับประกันความปลอดภัยของประชาชน จะมีใครเป็นรายต่อไป ที่จะถูกบังคับให้สูญหาย หากรัฐไทยยังคงเมินเฉยต่อชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้สูญหายที่ยังคงไม่มีใครรู้ชะตากรรมของพวกเขา
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/brief/146707/146707
https://www.amnesty.or.th/latest/news/924/
https://prachatai.com/journal/2020/08/89264
https://www.un.org/en/observances/victims-enforced-disappearance
https://www.dsi.go.th/th/Detail/92f2ccf16e1afc6181a62629b2a20af3
#Brief #TheMATTER