หลังจากมีการแชร์เอกสารในโลกออนไลน์ว่า รัฐบาลโดยกรมประชาสัมพันธ์เตรียมของบกลาง 569 ล้านบาท มาจ้าง influencer, ทำ MV, ทำสปอตทีวี-วิทยุ, ทำคลิป vdo และซื้อพื้นที่สื่อ สำหรับประชาสัมพันธ์การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ระหว่างเดือน ก.ย.2564 – เดือน มี.ค.2565 (คร่อมปีงบประมาณ 2564 และ 2565) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นการใช้งบประมาณเพื่อลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และขอให้ช่วยเชียร์รัฐบาลหรือไม่
The MATTER มีโอกาสเห็นเอกสารโครงการนี้ ที่ใช้ชื่อว่า ‘โครงการรณรงค์เอาชนะโควิด-19 ตามมาตรการเร่งด่วน (Thailand Prevention)’ มีจำนวน 12 หน้ากระดาษเอสี่ โดยกำหนด key message คือ “ลดการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็ว แก้โควิด-19 ที่ต้นเหตุ” โดยจะเน้นเนื้อหา 3 ด้าน คือ สร้างความรู้และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19, มาตรการและการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ และวิธีปฏิบัติตัวที่จะไม่ไปรับเชื้อหรือแพร่เชื้อต่อ 12 ข้อ
โครงการนี้จะมี 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่
1.) ผลิตและเผยแพร่สปอตทางวิทยุและโทรศัพท์ (100 ล้านบาท) แบ่งเป็นผลิตสปอตโทรทัศน์ 2 สปอต (ความยาว 30 วินาที) พร้อมเผยแพร่ 250 ครั้ง ผ่านทีวีดิจิทัล 9 ช่อง, ให้พูดแทรก (tie-in) ในรายการโทรทัศน์ 14 ช่อง รวม 102 ครั้ง, ผลิตสปอตวิทยุ 12 สปอต (ความยาว 30 วินาที) พร้อมเผยแพร่ 2,380 ครั้งผ่าน 7 สถานีวิทยุ
2.) ผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์ผ่านสื่อออนไลน์ (100 ล้านบาท) แบ่งเป็นผลิตวีดิโอคลิป 12 เรื่อง (ความยาว 30 วินาที) พร้อมเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ 59 ช่องทาง, ผลิตและเผยแพร่สติ๊กเกอร์ไลน์
3.) ผลิตเพลงและสื่อโซเชียลมีเดีย ผ่านศิลปิน ดารา และผู้มีอิทธิพลทางความคิด (99 ล้านบาท) แบ่งเป็นใช้ influencer ทั้งระดับ mega macro และ micro ผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์, ผลิต MV รณรงค์เอาชนะโควิด-19 รวม 1 ชิ้น โดยศิลปินนักร้องชั้นนำ พร้อมเผยแพร่ 320 ครั้ง ผ่านสถานีโทรทัศน์ 9 ช่อง
4.) ผลิตและเผยแพร่ผ่านสื่อนอกบ้านและผ่านระบบแอพพลิชั่นและ e-commerce (65 ล้านบาท) เช่น จอ LED, ป้ายบิลบอร์ด, สื่อบนรถโดยสารสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ รวม 10,350 จุด และเผยแพร่เป็น pop up ในแอพฯ ของธนาคารหรือ shopping online
5.) กิจกรรมรณรงค์ในกลุ่มเป้าหมายโดยตรง (200 ล้านบาท) รวม 8 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม โรงงาน บริษัท แคมป์คนงาน และตลาด
6.) รายงานผลการประเมินโครงการโดยรวม (5 ล้านบาท)
The MATTER พยายามตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวกับ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับคำยืนยันว่า โครงการดังกล่าวมีอยู่จริง และผ่านมติที่ประชุม ครม.แล้ว โดยโครงการนี้เริ่มต้นจากที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งตนไม่ได้ร่วมอยู่ด้วย แต่ได้รับการสื่อสารจากอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาฯ ว่ามีเป้าหมายเพื่อสร้าง ‘วิธีประชา’ คือให้คนมีชื่อเสียงและสื่อมวลชนมาช่วยกันชักชวนประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันโควิด-19 โดยหลังจากนี้กรมประชาฯ จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ทราบมาว่างบประมาณถูกปรับลดไปจำนวนหนึ่ง แต่จำเป็นวงเงินเท่าใดต้องไปถามจากอนุชาอีกครั้ง
ด้านอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลกรมประชาฯ กล่าวกับ The MATTER ว่า โครงการนี้จะเน้นการรณรงค์ให้ประชาชนมาร่วมมือกันป้องกันโควิด-19 เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง ดีกว่าจะไปแก้ไขปัญหาเมื่อมีประชาชนติดเชื้อแล้วซึ่งถึงวันนี้ รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหารวมถึงเยียวยานับล้านล้านบาทแล้ว
“เป้าหมายของโครงการนี้ทำไปเพื่อรณรงค์ ไม่ได้ต้องการใช้เงินเพื่อมาขอให้สื่อลดการวิพากษ์วิจารณ์หรือให้ต้องมาเชียร์ใครเลย ผมทำโครงการนี้เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติ อยากให้เอาการเมืองไว้ข้างหลัง เพราะวิกฤตโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญ” อนุชากล่าว
เมื่อถามว่าถูกที่ประชุม ครม.ปรับลดงบประมาณไปเท่าใด อนุชาตอบว่า ต้องไปคุยกับสำนักงบประมาณอีกที แต่ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว
วันเดียวกัน ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบกลางของปีงบประมาณ 2564 กว่า 105 ล้านบาท ให้เดินหน้าโครงการดังกล่าวแล้ว เฉพาะกิจกรรมที่มีความเร่งด่วนก่อน
#Brief #TheMATTER