ดูเหมือนว่าการต่อสู้กับ COVID-19 คงไม่จบลงง่ายๆ เพราะนอกจากมีเดลต้าให้กังวล ตอนนี้ยังมีตัวแปร COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ C.1.2 ที่พบในแอฟริกาใต้ ให้เราต้องจับตาเพิ่มขึ้นอีก หลังมีรายงานว่า C.1.2 อาจกลายพันธุ์มากกว่าตัวแปรอื่นๆ ที่องค์กรอนามัยโลก (WHO) จัดให้เป็นตัวแปรที่ต้องกังวลและน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม นักไวรัสวิทยาของไทย เปิดเผยว่า นี่ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่ต้องกังวลขณะนี้
สถาบันแห่งชาติโรคติดต่อแห่งชาติแอฟริกาใต้ (NICD) เปิดเผยว่า C.1.2 ถูกพบครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่จังหวัด Mpumalanga และ Gauteng ของแอฟริกาใต้ก่อนจะกระจายไปทั่วประเทศ และเริ่มกระจายในหลายประเทศทั้ง อังกฤษ จีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มอริเชียสนิวซีแลนด์ โปรตุเกส บอตสวานา ซิมบับเว และสวิตเซอร์แลนด์
COVID-19 สายพันธุ์ใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K, N501Y และ D614G เหมือนสายพันธุ์อัลฟา, เบต้า และแกมมา แต่มีรายงานว่าตัวแปร C.1.2 มีลักษณะการกลายพันธุ์ที่รวดเร็ว ประมาณ 44-59 จุด เร็วกว่าที่พบในสายพันธุ์อื่น ๆ ทั่วโลกเกือบ 2 เท่า ทำให้เกิดความกังวลว่า C.1.2 จะกลายมาเป็นตัวแปรใหม่ที่ทำให้โลกขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของการระบาดแทนสายพันธุ์เดลตาหรือไม่ เนื่องจากการกลายพันธุ์ที่มากขึ้นนี้ อาจส่งผลต่อเนื่องถึงความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงความสามารถในการหลบเลี่ยงแอนติบอดี
ริชาร์ด เลสเซล (Richard Lessells) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ บอกกับรอยเตอร์ว่า C.1.2 อาจมีคุณสมบัติในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันมากกว่า COVID-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน หากพิจารณาจากรูปแบบการกลายพันธุ์ของมัน แต่คุณสมบัติของ C.1.2 ยังอยู่ในระหว่างตรวจสอบเพื่อหาความชัดเจน
หากถามว่าตอนนี้เราควรกังวลเรื่องสายพันธุ์ C.1.2 หรือยัง ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยาของไทย กล่าวว่า C.1.2 พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งจริง ทาง WHO ก็เริ่มจับตามองว่าไวรัสตัวนี้จะกระจายตัวไวจนต้องเป็นสายพันธุ์น่ากังวลตัวใหม่หรือไม่
แต่ผ่านมา 4 เดือน ข้อมูลระบุว่าไวรัสตัวนี้ไม่ได้พบมาก และอาจโดน COVID-19 สายพันธุ์เดลต้ากลืนไปจนไม่สามารถแพร่กระจายต่อได้ พร้อมอธิบายว่า ไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายตำแหน่งไม่ได้น่ากลัวเสมอไป เนื่องจากการกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของไวรัส
ประกอบกับ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนชี้ว่า C.1.2 จะแพร่เชื้อได้มากขึ้น หรือดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อโดยธรรมชาติหรือไม่ และอัตราการระบาดและการแพร่เชื้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ มีการตรวจพบลำดับจีโนมไม่ถึง 3% นับตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรก
ขณะที่ WHO ก็ออกมาให้ความเห็นถึงสายพันธุ์ดังกล่าว โดยระบุว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะกำหนดให้ C.1.2 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล หรือน่าสนใจ จึงยังไม่มีการกำหนดตัวอักษรกรีกเป็นชื่อให้เหมือนสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งก็อาจทำให้เราพอวางใจไปได้บ้างว่าตอนนี้ มีเพียงสายพันธุ์เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลักหนึ่งเดียวที่ต้องรับมือ
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/…/new-coronavirus…/index.html
https://www.theguardian.com/…/what-is-c12-the-new-covid…
https://www.forbes.com/…/heres-what-we-know-about…/…
https://web.facebook.com/photo/?fbid=4733800413326510&set=a.410485375658057
https://www.news-medical.net/…/Potential-variant-of…