การอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 รัฐมนตรี ในวันนี้ (31 ส.ค.2564) ซึ่งถือเป็นวันแรก ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้านได้พุ่งเป้าการอภิปรายไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหา COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในแง่มุมต่างๆ
อย่างไรก็ดี ผู้ที่ลุกขึ้นชี้แจงมีเพียง พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น จะมีเรื่องใดบ้าง The MATTER ขอสรุปให้ทุกคนได้อ่านกัน
#ประเด็นการจัดทำงบประมาณ
– รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งงบกลางปีนี้มียอดสูงขึ้น โดยมีการระบุว่าจะนำมาใช้ในสถานการณ์ COVID-19 ทั้งสิ้น โดยไม่ได้มีการเพิ่มเติมงบด้านอื่นเป็นพิเศษแต่ประการใด อย่างไรก็ดี มีการใช้งบประมาณตามระเบียบ ซึ่งมีการตรวจสอบทุกประการ ตนเองไม่สามารถชี้นิ้วสั่งเองได้ เพราะตนไม่อยากมีปัญหาด้านทุจริต
– รายได้ของรัฐบาลจัดเก็บได้น้อยลง เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 แต่รัฐบาลได้มีความพยายามในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินในประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน ให้พออยู่พอกินพออาศัยในช่วงนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สนับสนุนการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย
#ประเด็นงบประมาณกระทรวงกลาโหม
– รัฐบาลพิจารณาจากสัดส่วนงบประมาณ และไม่ได้มีสัดส่วนสูงตามที่ได้มีการอภิปรายไม่ไว้ววางใจ เมื่อเทียบงบประมาณกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศไทยในปี 2563 กับต่างประเทศ ซึ่งก็มีตัวเลขที่ไม่ต่างกันมาก ทั้งนี้ รัฐบาลพิจารณาตามความจำเป็นทั้งสิ้น
– ทหารยังสามารถนำมาช่วยงานในด้านอื่นๆ นอกจากการจัดการด้านความมั่นคงทั้งภายในประเทศและชายแดน ได้แก่ การดูแลภัยพิบัติ สถานการณ์ COVID-19 การสนับสนุนงานกระทรวงต่างๆ เป็นต้น เบี้ยเลี้ยงของทหารก็ไม่ได้มากมาย เพียงแต่ต้องใช้กำลังพลจำนวนมาก
– พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า ยังมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อความปลอดภัยของกำลังพล เพราะกำลังก็เป็นลูกหลายของเรา อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยมีเพื่อตอบรับกับเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น และนำมาทดแทนกับของเก่าที่ปลดระวางไป โดยกว่าจะปลดระวาง ใช้เวลากว่า 40-60 ปี ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อมา 10 ปีแล้วทิ้ง และไทยจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าจะไม่มีการรบเกิดขึ้น การจัดซื้อจึงเป็นแผนเผชิญเหตุล่วงหน้า
#ประเด็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
– รัฐบาลมียุทธศาสตร์ 5 ปี ในการลงทุน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ การลงทุน EEC การลงทุน SDC รวมถึงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รัฐบาลเองกำลังมีการเร่งดำเนินการอยู่ โดยในช่วงไตรมาสที่ผ่านมานี้ มีการลงทุนในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการขอการสนับสนุนจาก BOI ที่มากขึ้น
– ไทยพยายามจัดการปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบรายได้เดิมที่มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว รัฐบาลมีมาตรการชะลอนี้ ลดภาษี รายได้จึงลดลง แต่ทำขึ้นเพื่อช่วยจัดการกับความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งมาตรการประกันรายได้ มาตรการเสริม มาตรการพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย
– นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า หนี้ถูกส่งต่อมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่เป็นหนี้ที่เกิดคุณค่า เช่น สาธารณูปโภคพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการประปา ไฟฟ้า ถนน รถไฟ รถไฟฟ้า รัฐบาลไม่ได้กู้เงินมาแจกประชาชนอย่างเดียว ส่วนหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หนี้ครัวเรือน และหนี้อื่นๆ พล.อ.ประยุทธ์ชี้ว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการบริหารจัดการ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และทำให้ประชาชนชำระหนี้ได้
– ทั้งนี้ ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังประเมินสถานะทางการเงินและการคลังของไทย ในระดับคงเดิมกับครั้งก่อน แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงมีความน่าเชื่อมั่นในเวทีโลก ทั้งนี้ รัฐบาลยังเร่งการเติมเงินเข้าไปในระบบ ให้ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอย โดยที่ตนก็ไม่รู้ว่า ประชาชนจะเลือกตั้งตนเองหรือเปล่า
#ประเด็นหน้าที่ในฝ่ายบริหารและปัญหาการทุจริต
– รัฐบาลไม่มีการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการ การกล่าวหาว่าตำรวจใช้อำนาจต่อเยาวชน ตนขอถามกลับว่า เป็นสถานที่ที่ควรไปหรือไม่ พร้อมยืนยันว่าไม่มีการสั่งการให้ตำรวจใช้อาวุธจริง ทั้งนี้ ขอให้คอยดูต่อไป ว่าใครจะทำให้เริ่มเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้นก่อน และด้วยแรงสนับสนุนจากใคร
– พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า ตัวเลขการดำเนินคดีทุจริตในข้าราชการระดับสูง ระดับกลาง ระดับล่าง มีมากขึ้นก็จริง โดยสมัยก่อนก็มีการทุจริตมาก แต่ไม่มีการดำเนินคดีเท่าปัจจุบัน จึงอยากให้มองในด้านนี้ เพราะก็มีการดำเนินคดีทุจริตในรัฐบาลยุคปัจจุบัน ที่ตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
#ปัญหาการจัดการสถานการณ์โควิด
– พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การสั่งการในการบริหารสถานการณ์ COVID-19 สั่งการโดยความเห็นชอบรวมกันและเปิดเผย ยืนยันตนเองไม่ติดนิสัยเผด็จการตามข้อกล่าวหา ทั้งนี้ มีการแบ่งงานออกเป็นการจัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ และการกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์ นอกจากนี้ ไทยมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดมาโดยตลอด
– ประเด็นที่ว่า ไทยเองเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ที่มีระบบสาธารณสุขคุณภาพดี พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าดีใจ แต่ไม่ได้รวมถึงการรองรับการแพร่ะบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ ระบบสาธารณสุขไทยไม่ได้ล้มเหลว และพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามสถานการณ์
– พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า มีการสุ่มตรวจหาเชื้อ และมาตรการอื่นๆ เพื่อควบคุมโรค ส่วนประเด็น ATK รัฐบาลได้จัดหามา 8.5 ล้านชิ้น ตัวเองไม่เคยกล่าวว่าให้ซื้อ ATK ผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO) นอกจากนี้ รัฐบาลก็ยังมีการสนับสนุนยาฟาร์วิพิราเวีย ฟ้าทะลายโจรให้แก่ประชาชนมาโดยตลอด
– สถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบันมีหลายระลอก ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ส่วนวัคซีนนั้น ภาคผลิตกับความต้องการไม่ตรงกัน ไทยเองมีการผลิตวัคซีน AstraZeneca ในประเทศ ซึ่งก็ผลิตได้บางส่วน และบริษัทแม่สัญญาว่าจะจัดหาวัคซีนให้ไทยให้ได้ 61 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ โดยประเด็นเงินทอนวัคซีน Sinovac พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ให้ไปหามาว่าเงินส่วนต่างหายไปอยู่ที่ใคร ยืนยันว่าตัวเองพร้อมถูกตรวจสอบในทุกประเด็น ทั้งนี้ สิ้นปีไทยจะมีวัคซีน 140 ล้านโดสเพื่อใช้ฉีดให้แก่ประชาชน
– พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า สถานการณ์ในวันนี้กำลังดีขึ้นแล้ว และไม่เกี่ยวกับการปกปิดยอดผู้ติดเชื้อ เพราะตัวเลขต้องรายงานไปสู่องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลพยายามทำให้ดีที่สุด ตนเองเสียใจที่เกิดความสูญเสีย และไม่ได้มีการค้าความตาย อย่างที่มีการกล่าวหา อย่างไรก็ดี วันนี้คนไทยต้องอยู่กับ COVID-19 ให้ได้ รัฐบาลจึงมีมาตรการ Universal Prevention ออกมา รวมถึงการเปิด Phuket Sandbox ซึ่งยืนยันว่าไม่ล้มเหลว และไทยเองยังมีการเตรียมบุคลากรให้พร้อมแก่การเปิดประเทศด้วย
#Brief #Politics #อภิปรายไม่ไว้วางใจ #TheMATTER