“โปร่งใส ตรวจสอบได้” เคยเป็นคำที่ผู้มีอำนาจนับแต่รัฐประหารในปี 2557 ใช้พูดแบบส่งๆ พูดแบบขอไปที อยู่บ่อยๆ เพราะเวลามีคนจะขอเข้าไปตรวจสอบ ขอดูความโปร่งใสอะไรทีไร ก็มักจะบ่ายเบี่ยง ถ่วงเวลา ขัดขวาง หรือกระทั่งเบี้ยวสิ่งที่ตัวเองเคยพูดไว้แบบดื้อๆ
แต่พอคำๆ นี้ มาปรากฎในคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง มันกลับดูมีน้ำหนักขึ้นมา และกลายเป็นข่าวดีเล็กๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อศาลสั่งให้ ป.ป.ช. ‘ต้องเปิดเผย’ รายงานการตรวจสอบคดีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยกคำร้องไปตั้งแต่ปลายปี 2561 หลังเชื่อคำอ้างที่ว่า ยืมนาฬิกาหรู 22 เรือนจากเพื่อนมาใส่ แม้กระทั่งเวลาที่เพื่อนคนดังกล่าวเสียชีวิตไปแล้ว เป็นเหตุให้ไม่ได้แจ้งทรัพย์สินมูลค่าสูงดังกล่าวไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. (เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของ แค่ยืมมาใส่ออกงานเฉยๆ)
โดยวันนี้ (15 ก.ย.2564) ศาลปกครองกลาง ได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2557/2562 คดีหมายเลขแดงที่ 1327/2564 ที่ผู้สื่อข่าว The MATTER ยื่นฟ้อง ป.ป.ช. กรณีไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2564 หลังจากเรายื่นขอรายงานผลการสอบสวนคดีดังกล่าวและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจาก ป.ป.ช. ภายหลังมีมติไม่รับคดีนี้ไว้ไต่สวน เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2561 โดยเราทำเรื่องยื่นขอข้อมูลทันทีในวันรุ่งขึ้น แต่ ป.ป.ช.ก็ไม่ยอมจัดส่งเอกสารบางรายการมาให้ ส่วนที่ส่งมาให้เอกสารสำคัญกว่าครึ่ง..ก็เป็นเพียง ‘กระดาษเปล่า’!
หลังจากนั้นเราได้ยื่นร้องเรียนและอุทธรณ์ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ทั้งเรื่องความล่าช้าและการไม่เปิดเผยข้อมูล จนที่สุด คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีคำวินิจฉัยที่ สค. 334/2562 สั่งให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีนาฬิกายืมเพื่อนที่เหลือให้กับเรา
แต่แม้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 37 วรรคสอง จะกำหนดไว้ว่า คำวินิจฉัยของ กวฉ. “ให้เป็นที่สุด” แต่มันก็ไม่เป็นที่สุดจริงๆ เมื่อ ป.ป.ช.ไปอ้างกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 28, 36 และ 180 และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 15(2)(3)(6) ไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว นำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ช่วงปลายปี 2562
ผ่านไปเกือบ 2 ปี ในวันนี้ ศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาสั่งให้ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยเอกสาร 2 รายการให้กับ The MATTER (โดยปกปิดข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะของบุคคล) ได้แก่
1.) รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ในวันที่มีมติเกี่ยวกับคดีนี้ (27 ธ.ค.2561) รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.) คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยื่นชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ในคดีนี้ ทั้งหมด 4 ครั้ง
“การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารนี้ จะแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อันจะก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและศรัทธาในการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช. อีกทั้งผู้ฟ้องคดีสมควรจะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องเปิดเผย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 41 และ 59 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในระบอบประชาธิปไตย ตามหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และเพื่อให้มีการตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.ให้สิ้นสงสัย อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจ ที่ต้องเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลยพินิจ”
ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีนี้ ที่ปรากฎอยู่ในหน้าที่ 15 จากทั้งหมด 22 หน้าว่าไว้เช่นนั้น แม้น่าเสียดายที่ ป.ป.ช.ไม่มีผู้บริหารมารับฟังเหตุผลนี้ของศาลด้วยตัวเอง เพราะส่งผู้แทนมาฟังคำพิพากษาแทน
หลังจากนี้ ก็วัดใจทาง ป.ป.ช. ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ (ซึ่งเคยเป็นเลขานุการรองนายกฯ ของ พล.อ.ประวิตร มาก่อนในรัฐบาล คสช.) เป็นประธาน ว่าจะยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ มีกำหนดระยะเวลา 30 วัน หาก ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ก็ยังต้องไปสู้กับต่อไป แต่หาก ป.ป.ช.ไม่ยื่นอุทธรณ์ ก็จะต้องส่งเอกสารต่างๆ ที่ศาลสั่งให้กับ The MATTER ภายในระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
มหากาพย์กระดาษเปล่า ‘คดีนาฬิกายืมเพื่อน’ จะเป็นอย่างไร ยังต้องติดตามกันต่อไป บ้านนี้เมืองนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ เลย
ย้อนดูการติดตามทวงถามผลสอบสอบคดีนาฬิกายืมเพื่อนจาก ป.ป.ช. ของเราเอง (เอาแค่บางชิ้นพอเนอะ เพราะทำไว้เยอะอยู่) และเหตุผลว่า ทำไมการเปิดเผยข้อมูล จึงสำคัญกับพวกเราทุกๆ คน
https://www.youtube.com/watch?v=uIKainFfOwY
https://www.youtube.com/watch?v=HDLZUeqU4L4
https://thematter.co/social/nacc-tranparency-general-rolex-case/78759
https://thematter.co/brief/brief-1583632835/103350
https://thematter.co/brief/brief-1582956008/102304
#Brief #TheMATTER