การก่อการร้ายเป็นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวว่ากระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศเตือนพลเมืองที่อาศัยอยู่ใน 6 ประเทศอาเซียน ให้ระวังเหตุก่อการร้ายด้วยระเบิดฆ่าตัวตายในพื้นที่ที่มีการรวมตัวคนจำนวนมาก
คำเตือนที่เผยแพร่ออกมาสร้างความกังวลใจให้กับประชาชนหลายๆ คน และในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาก็มีความคืบหน้ามากมายเกี่ยวกับการเตือนภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่ง The MATTER จะมาเรียบเรียงให้ฟังว่าประเทศไทย และประเทศต่างๆ เคลื่อนไหวกับเรื่องนี้อย่างไร
- เมื่อวันที่ 12 กันยายน กระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่นมอบหมายให้สถานทูตประจำประเทศต่างๆ รวม 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, มาเลเซีย, เมียนมา, และไทย ส่งอีเมลเตือนพลเมืองชาวญี่ปุ่นให้ระวังการก่อการร้ายในรูปแบบ ‘ระเบิดพลีชีพ’ ในสถานที่ที่มีการรวมตัวจำนวนมาก เช่น การประกอบพิธีทางศาสนา โดยขอให้ระวังตัวอย่างเต็มที่
- อีเมลฉบับนั้นเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่น เนื่องจากต้องการสื่อสารกันเฉพาะในกลุ่มพลเมือง ตามคำบอกเล่าของสำนักข่าวสารญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาในอีเมลฉบับนั้นถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็วในอินเทอร์เน็ต ทำให้ประชาชนหลายคนเกิดความกังวลใจและตั้งคำถามว่า สัญญาณเตือนจากญี่ปุ่นมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน
- หลังจากมีข่าวเรื่องอีเมลเผยแพร่ออกมาได้ 1 วัน ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยแล้ว ได้รับการยืนยันว่า อีเมลเตือนเหตุก่อการร้ายมาจากกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นจริง ซึ่งกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถบอกที่มาหรือแหล่งข่าวของอีเมลฉบับนี้ได้ และทางสถานทูตเองก็ไม่มีข้อมูลมากกว่านี้
- ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาชี้แจงว่า การประกาศเตือนดังกล่าวเป็นการเตือนตามรอบปกติ แต่ก็ได้ประสานงานกับหน่วยความมั่นคง รวมถึงหน่วยงานด้านข่าวทั้งในและต่างประเทศแล้วเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้เพิ่มเติม แต่ยังไม่พบว่ามีสิ่งใดชี้ชัดว่าจะเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้น
- อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กำชับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง รวมถึงเพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยบุคคลและสถานที่สำคัญ รวมถึงประสานไปยังประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การตำรวจสากลเพื่อเฝ้าระวังการเดินทางเข้า-ออกของบุคคลที่มีรายชื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดมากขึ้น
- คำชี้แจงของพ.ต.อ.กฤษณะ ที่บอกว่าเป็นการเตือนภัยตามรอบนั้นสอดคล้องกับคำแถลงของ นอร์มาห์ อิชัก หัวหน้าฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายของตำรวจมาเลเซีย ที่บอกว่า การเตือนภัยของญี่ปุ่นเป็นคำเตือนปกติ “ยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชี้ชัดว่าจะเกิดเหตุก่อการร้าย สายข่าวที่ญี่ปุ่นระบุว่า นี่เป็นการเตือนภัยในวันครบรอบ 9/11 และเหตุการณ์ในอัฟกานิสถาน”
- ส่วนสำนักงานความมั่นคงภายใน (ISD) ของสิงคโปร์ก็ออกมาบอกว่า ตอนนี้ไม่มีข่าวที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับเหตุก่อการร้ายในสิงคโปร์ ทาง ISD ได้ติดต่อไปยังญี่ปุ่นเพื่อหาต้นตอของคำเตือน แต่พวกเขายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนให้ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ขอให้ประชาชนระมัดระวังและรีบติดต่อเบอร์ฉุกเฉินทันทีหากพบเหตุการณ์หรือบุคคลที่น่าสงสัย
- คำชี้แจงดังกล่าวมีทิศทางเดียวกับฟิลิปปินส์ ลีโอโพลโด ลาโรยา รองผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์ชายฝั่งฟิลิปปินส์ (PCG) ก็บอกมายืนยันเช่นกันว่าขณะนี้ยังไม่มีเหตุให้ต้องตื่นตระหนก แต่ไม่ควรประมาท และขอให้ประชาชนทุกคนติดต่อหน่วยงานรัฐทันที หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น ซึ่งระหว่างนี้กองกำลังของ PCG ก็จะยกระดับมาตรการคุมเข้มบริเวณชายแดน เพื่อเตรียมรับมือหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น
.
- ขณะที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญหน้ากับเหตุก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า ‘ฤดูแห่งความหวาดกลัว’ เพราะมักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน วันครบรอบการระเบิดของบาหลี และวันครบรอบ 9/11 โดยล่าสุดมีการจับกุมผู้ก่อการร้ายได้แล้วกว่า 188 รายนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม แต่ยังไม่มีรายงานว่า มีใคร หรือเหตุการณ์ใดเกี่ยวข้องกับคำเตือนของญี่ปุ่น
.
- ส่วนเมียนมายังไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ กับข่าวนี้
.
แม้ว่าคำเตือนของญี่ปุ่นอาจจะยังดูไม่มีน้ำหนักมากนักในตอนนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะเพิกเฉยต่อไปได้ เพราะการก่อการร้ายนั้นหมายถึงการสูญเสียชีวิต ครอบครัว และทรัพย์สินของคนมากมาย และหลังจากนี้คงต้องจับตากันต่อไปว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมใดๆ หรือไม่
.
.
อ้างอิงจาก
https://www.pna.gov.ph/articles/1153608
https://www.scmp.com/…/terror-season-fears-indonesia…
https://www.benarnews.org/…/southeast-asia-terror…
https://www.channelnewsasia.com/…/isd-terror-threat…
https://www.bbc.com/thai/thailand-58541899
https://www.pptvhd36.com/…/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0…/156231