เมื่อไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไข ก็ทำได้เพียงรำลึก และเรียนรู้จากมัน เนเธอร์แลนด์สร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติแห่งใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงเหยื่อ 102,163 คนที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศและถูกสังหารให้ค่ายกักกันนาซี สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนเธอร์แลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกรุกรานโดยกลุ่มนาซีเยอรมนี แม้ในช่วงแรกเนเธอร์แลนด์จะยืนหยัดจุดยืนความเป็นกลางในสงครามครั้งนี้ แต่ท้ายที่สุดก็ยอมจำนน รัฐบาลและราชวงศ์ได้ลี้ภัยไปยังกรุงลอนดอน
ขณะที่หลายพื้นที่ในเนเธอร์แลนด์ถูกยึดครองโดยกลุ่มนาซีเยอรมนี และมีการต้อนชาวยิว และชนชาติต่างๆ ในเนเธอร์แลนด์ไปค่ายกักกันนาซี โดยได้รับความร่วมมือจากข้าราชการชาวดัตช์ ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามที่มีการบันทึกในประวัติศาสตร์โลก
การทอดทิ้งประชาชน และการร่วมมือกับนาซีในการสังหารพลเรือนในประเทศทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงราชวงศ์ และเจ้าหน้าที่รัฐของเนเธอร์แลนด์มาโดยตลอด ซึ่งภายหลัง ข้าราชการระดับสูงของเนเธอร์แลนด์ได้ออกมาขอโทษถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนจะมีการประกาศสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติสำหรับระลึกถึงเหยื่อ 102,163 คนขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา
อนุสาวรีย์นี้ออกแบบโดยแดเนียล ลิเบสคินด์ ชายวัย 75 ปี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคนที่สูญเสียญาติพี่น้องไปกับเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศ มีลักษณะเป็นกำแพงอิฐเขาวงกต และเมื่อมองจากด้านบนจะเห็นตัวอักษณฮีบรูที่มีความหมายว่า “ในความทรงจำ”
นอกจากนี้ หินแต่ละก้อนที่ใช้ประกอบเป็นอนุสาวรีย์ยังมีการสลักชื่อชาวยิว ชาวโรมานี และซินตีกว่า 102,163 คนที่ถูกต้อนออกจากเนเธอร์แลนด์ และถูกนำตัวไปสังหารในค่ายกักกันนาซี เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงความสูญเสียของเหยื่อทุกคน
นายกรัฐมนตรี มาร์ค รัตต์ ได้เข้าร่วมพิธีเปิดตัวอนุสาวรีย์แห่งใหม่นี้ด้วย โดยกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบันทึกอันดำมืดของหน้าประวัติศาสตร์เนเธอร์แลนด์ “สิ่งเหล่านี้ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่าเราควรปกป้องผู้คนมากกว่านี้ และทำให้เราตระหนักว่าการลัทธิต่อต้านชาวยิวไม่เคยจางหายไปจากสังคม” มาร์ค รัตต์กล่าว
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER