“เมื่อปวงชนไม่มีอะไรเหลือให้กิน พวกเขาจะกินคนรวย” คือ คำกล่าวของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ที่อาจจะอธิบายยุคสมัยของเราได้ดีที่สุด หลังคนรุ่นใหม่เริ่มหันหลังให้ระบอบทุนนิยม และใฝ่ฝันที่จะได้อยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คำถามก็คือ ทำไมพวกเขาถึงคิดแบบนั้น?
กระแสการเรียกร้องสังคมที่เท่าเทียม ในบรรดาคนรุ่นมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างต้นทษวรรษที่ 1980 ถึงกลางทษวรรษ 1990) และ Gen Z (ปลายทศวรรษ 1990 ลงมา) ผุดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก การเรียกร้องเก็บภาษีจากคนรวย สวัสดิการที่เท่าเทียม การมองเห็นสังคมที่ฟอนเฟะซึ่งไม่ต่างไปจากนิยายดิสโทเปีย กำลังทำให้คนรุ่นใหม่มองว่า ทุนนิยมไม่ตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิตของพวกเขา
จากผลสำรวจของสถาบันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ (IEA) ซึ่งมีแนวคิดเป็นพวกฝ่ายขวาเผยว่า คนรุ่นใหม่ในสหราชอาณาจักรกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าวิกฤตการถือครองบ้านเกิดขึ้นจากลัทธิทุนนิยม ทุนนิยมยังส่งผลให้คนรุ่นใหม่กว่า 75 เปอร์เซ็นต์มองว่า มันเป็นตัวการโดยเฉพาะ ที่ทำให้เกิดวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศ ที่น่าสนใจก็คือ คนรุ่นใหม่กว่า 67 เปอร์เซ็นต์ อยากอยู่ภายใต้สังคมที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
เช่นเดียวกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อปี 2016 ที่ชี้ว่า คนรุ่นใหม่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ในดินแดนใจกลางการค้าเสรีอย่างสหราชอาณาจักร กลับปฏิเสธระบอบทุนนิยม ในทางเดียวกัน เมื่อปี 2018 คนรุ่นใหม่สหรัฐฯ แค่ 45 เปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่าทุนนิยมส่งผลประโยชน์ให้แก่พวกเขา ตกลงมาจากสถิติเดิมในปี 2010 ที่ 68 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน ในทั่วทุกมุมโลก คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญหน้ากับชีวิตในการเรียนที่ลำบาก จนบางคนต้องพักการเรียนเพื่อหางาน ซ้ำร้ายงานที่พวกเขาได้ทำ ยังเป็นงาน “ห่วยๆ” อีกด้วย
นอกจากระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ที่มารูปแบบอย่างเงินค่าเล่าเรียน และการหางานแล้ว คนรุ่นใหม่กำลังพบกับ “สงครามทางวัฒนธรรม” ที่เกิดจากระบอบทางเศรษฐกิจในประเทศของพวกเขา ซึ่งกำลังแทรกซึมเข้ามาในชีวิต ในทางกลับกัน IEA วิจารณ์ว่า มีคนรุ่นใหม่หลายคนบนโซเชียลมีเดีย ปรับภาพลักษณ์ของตัวเองผ่านโพสต์ต่างๆ ให้ดูเป็นว่าพวกเขา คือ นักสังคมนิยมบนโลกออนไลน์ แต่แท้ที่จริง มันก็เป็นเพียงแค่แฟชั่นอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ IEA ยอมรับว่า วิกฤตการถือครองบ้านนั้นเป็นเรื่องจริง
“ไม่ว่าจะด้วยนักตลาดเสรี พวกอนุรักษ์นิยม พวกวางตัวเป็นกลาง พวกซ้ายกลาง หรือพวกสังคมนิยม ต่างก็เห็นด้วยกับวิกฤตการณ์การถือครองบ้านในสหราชอาณาจักร ว่ามันเป็นปัญหาก้อนโต แต่ทุกคนมีคำตอบที่ต่างกันว่า ปัญหาเหล่านี้มาจากไหน และจะทำอย่างไรกับมัน” คริสเตียน นีเม็ทซ์ จาก IEA ระบุ “ถ้าผู้คนถูกฉีกทึ้ง และพวกเขาคิดว่าระบบตลาดเองนั้นแหละ ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับเขา วิธีหนึ่งที่พวกเขาจะทำก็คือ การทำให้เรื่องซับซ้อนเข้าใจได้ง่ายๆ ‘นี่แหละหน้าตาของทุนนิยม นี่แหละหน้าตาของระบบตลาด’ (คำพูดเหล่านี้) ทำให้พวกเขาเห็นว่าระบบสังคมนิยมช่างดีงาม”
อัตราการเช่าบ้านในปัจจุบัน พุ่งสูงขึ้นมากกว่าอัตราการซื้อบ้าน ซึ่งมันขัดกับภาพของคนรุ่นใหม่ที่พวกเขาอยากครอบครองบ้านเป็นของตัวเอง การเข้าถึงบ้านที่ยากมากขึ้น ทำให้พวกเขาเห็นว่า คนรุ่นพวกเขากำลังเผชิญหน้าอยู่กับวิกฤต จากผลสำรวจของมูลนิธีบาร์นาร์โดในปี 2019 สองในสามของคนอายุต่ำกว่า 25 ปี เห็นว่า คนรุ่นพวกเขาจะมีชีวิตที่แย่กว่าคนรุ่นพ่อแม่
ในทางตรงกันข้าม เคียร์ มิลเบิร์น นักวิชาการฝ่ายซ้ายพยายามบอกว่า แนวคิดฝ่ายซ้ายสังคมนิยมที่กำลังแพร่ไปทั่วในคนรุ่นใหม่ เกิดขึ้นจากความคิดต่างรุ่น เนื่องจากคนรุ่นพ่อแม่ที่เกิดมาในยุค 1960 มักมีแนวคิดการมองโลกในแง่บวก สังคมกำลังจะดีวันดีคืน ซึ่งเกิดจากเงื่อนไขที่ตรงกันข้ามกับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน
คนรุ่นใหม่ถูกสั่งสอนว่า พวกเขาจะต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เพื่อจบมาหางานเงินเดือนดี แต่ส่วนต่างของค่าจ้างระหว่างคนเรียนจบ กับคนเรียนไม่จบกำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ นักเรียนจบใหม่ของสหราชอาณาจักรในปี 2020 มีหนี้จากการศึกษาเฉลี่ย 40,280 ปอนด์ (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) ในขณะที่ชาวสหราชอาณาจักรที่มีงานทำกว่า 1 ใน 3 นั้น เรียนไม่จบ ซ้ำร้ายด้วยมาตรการทางการเงินของรัฐบาลที่ผิดพลาด ยังทำให้คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาดี แต่กลับได้เงินเดือนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
ผลลัพธ์ของความรังเกียจทุนนิยม และความนิยมชมชอบระบบสังคมนิยมของคนรุ่นใหม่ ทำให้พวกเขาขับเคลื่อนตัวตนอยู่บนโลกโซเชียล เพื่อผลิตเนื้อหาทางการเมืองใน Twitter และ TikTok มากยิ่งขึ้น เรื่องเหล่านี้ทำให้คนรุ่นใหม่ดูกลายเป็นพวกหัวรุนแรง โดยเฉพาะในเรื่องทางการเมือง คนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด หลังเกิดการระบาดของ COVID-19 กับการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาตกต่ำลงไป เงื่อนไขเหล่านี้ทำให้เหมือนกับว่าคนรุ่นพวกเขา “ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง”
แต่ถ้าคุณเป็นผู้อ่านที่กำลังกลัวว่า คนรุ่นใหม่จะลุกขึ้นปฏิวัติแล้วล่ะก็ The Guardian ระบุว่า ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อ คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้เสนอแนวคิดคอมมิวนิสต์นั้น มีคนรุ่นมิลเลนเนียลแค่ครึ่งเดียว ที่มีมุมมองบวกต่อเขา เปรียบเทียบกับ 40 เปอร์เซ็นต์ใน Gen Z และ 20 เปอร์เซ็นต์ของเบบี้บูมเมอร์
งานเขียนและงานวิจัยหลายชิ้นกำลังบอกว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้ซ้ายจัดอย่างที่ทุกคนเข้าใจ และคนรุ่นใหม่ส่วนมากไม่ได้ใช้สำนวนภาษาแบบซ้ายสุดโต่ง ยิ่งไปกว่านั้น คนรุ่นเมลเลนเนียล และ Gen Z ไม่ได้ทำให้ตัวเองอินอยู่แต่กับเรื่องการเมืองมากมายขนาดนั้น นอกจากนี้ คนรวย ที่ยิ่งรวยขึ้นท่ามกลางการระบาด จะยังไม่ถูกกิน และเห็นได้ชัดว่า คนรุ่นใหม่ยังคงต้องการระบอบการเมือง ที่สามารถให้ความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตทางการเมืองและเศรษฐกิจของพวกเขาให้ได้
อ้างอิงจาก
https://novaramedia.com/2021/07/22/generation-left-might-not-be-that-left-after-all/
https://news.gallup.com/poll/240725/democrats-positive-socialism-capitalism.aspx
https://iea.org.uk/media/67-per-cent-of-young-brits-want-a-socialist-economic-system-finds-new-poll/
#Brief #TheMATTER