“ครีเอทีฟ มีไหวพริบ กระตือรือร้น และพยายามสร้างอิมแพ็ก” คือคำนิยามที่รีเสิร์ช ‘Truth About Gen Z’ จาก McCANN World Group นิยามกลุ่มคนเจเนอเรชัน Z – กลุ่มคนที่มีพลังอยากเปลี่ยนแปลงโลก และมีความเฉพาะตัวจนถึงขนาดที่รีเสิร์ชบอกว่า คนเจเนอเรชันอื่นทำได้เพียงพยายามทำความเข้าใจพวกเขาเท่านั้น อย่าไปเปลี่ยนแปลงพวกเขาเลย
แน่นอนว่าในอนาคตพวกเขาจะกลายเป็นกลุ่มคนที่มีพลังขับเคลื่อนสังคม และเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของตลาด รีเสิร์ชของ McCANN ชิ้นนี้สรุปความเป็น Gen Z ให้ได้ทำความเข้าใจ ว่าพวกเขามีความคิด และพฤติกรรมอย่างไรบ้าง และถ้าแบรนด์อยากจะจับคนกลุ่มนี้ ต้องทำอย่างไร
[ พวกเขาคือ Culture Maker ]
Gen Z คือกลุ่มที่มี และสร้างวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง พวกเขาสามารถสร้างกระแสบนโซเชียลมีเดียได้อย่างทรงพลัง และสร้างกลุ่มของตัวเอง (ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มของนักเขียนเพลงอินดี้ ที่มีกลุ่มคนฟังของตัวเอง และลอนช์ผ่าน TikTok โดยไม่ต้องพึ่งค่ายยักษ์)
70% ของ Gen Z ทั่วโลกยอมรับว่า วิธีการค้นหาไอเดียครีเอทีฟที่ดีที่สุด คือการรวมกลุ่มกันของกลุ่มคนที่หลากหลายทั้งมุมมองและความคิด และ 59% ของ Gen Z มองว่าผู้คนควรมีเสรีในการแสดงออกไม่ว่าพวกเขาจะเลือกสิ่งไหนก็ตาม – พวกเขามีพื้นที่ให้ความแตกต่างเสมอ
คัลเจอร์ของพวกเขาคือเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะมันเติบโตขึ้นทุกวันในฐานะค่านิยมร่วมและแนวคิดใหม่ แบรนด์ควรที่จะโอบรับความเป็น Gen Z ไม่ว่าจะในเรื่องของความเปิดกว้าง ความครีเอทีฟ ความเป็นตัวของตัวเอง และช่วยสร้างเครื่องมือให้พวกเขาได้สร้างวัฒนธรรมของพวกเขาให้เป็นจริง
แน่นอนว่า Gen Z ไม่มองว่าความเป็นสถาบัน ธรรมเนียม ความเป็นแบรนด์ หรือความลักชัวรี คือสิ่งที่พอดีกับเป้าหมายที่พวกเขามองหาอีกต่อไป พวกเขาแฮปปี้มากกว่าที่จะสร้างทางเลือกของตัวเอง และแฮปปี้กับแบรนด์ที่สร้างสรรค์ สนุก และสร้างการมีส่วนร่วม
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะยอมรับความหลากหลายและชูประเด็นความหลากหลายในการแสดงความเห็น แต่ Gen Z ไทยยอมรับว่าไม่สบายใจเหมือนกันที่ต้องอยู่ร่วมกับคนเห็นต่าง โดย 58% มองว่าคนควรมีเสรีภาพในการแสดงออก
โดย 83% ของ Gen Z ในประเทศไทยเชื่อว่า พวกเขามีส่วนในการสร้างสังคม และชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่
[ การเชื่อมโยงผู้คนผ่านสมาร์ทโฟน มีใจความสำคัญอย่างยิ่ง ]
โดย 75% ของ Gen Z ในประเทศไทยบอกว่า สมาร์ทโฟนสำคัญกับพวกเขามากๆ ถ้าไม่มีมือถือ พวกเขาจะรู้สึกไม่สบายใจ ขณะที่ 54% ของ Gen Z ไทยมองว่าประโยชน์ของโซเชียลมีเดีย คือการที่พวกเขาได้แสดงความเห็นของตัวเอง และโซเชียลมีเดียยังเปลี่ยนวิถีการสื่อสารของ Gen Z ไทยไปอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม 72% ของ Gen Z ไทยพยายามลดการใช้งานมือถือเพราะรู้สึกกดดันที่ต้องอยู่ติดมือถือตลอดเวลา
เพราะเป็นเจเนอเรชันที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี พวกเขาสื่อสารอย่างไร้ขีดจำกัด ทว่า 66% ของ Gen Z ทั่วโลกบอกว่า พวกเขาเชื่อมต่อกับผู้คนแต่ยังรู้สึกโดดเดี่ยว พวกเขาโดดเดี่ยวแม้จะอยู่ท่ามกลางเพื่อนและครอบครัว
พวกเขาให้ความสำคัญและยอมรับกับเรื่อง ความวิตกกังวล (anxiety) และ ซึมเศร้า (depression) และพวกเขาเปิดกว้างกับวิธีการแก้ปัญหาทางจิตใจ ซึ่งเปิดโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ในการช่วยซัพพอร์ตคนกลุ่มนี้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต (well-being) ของพวกเขา ผ่านสินค้าและบริการ
[ จุดยืนของแบรนด์ คือเรื่องสำคัญที่ Gen Z ตัดสินใจจะซื้อ ]
จะเห็นได้ว่า Gen Z นี่แหละที่สร้างกระแส สร้าง # ให้แบรนด์ต่างๆ ทั้งแง่บวกและลบบนโซเชียลมีเดีย เมื่อแบรนด์ทำดี พวกเขาชื่นชม เมื่อแบรนด์เงียบ พวกเขารวมตัวกันส่งเสียงเรียกร้องให้ออกมาสนับสนุนหรือแสดงจุดยืน
สิ่งที่ Gen Z ไทยต้องการจากแบรนด์คือ 30% ความจริงใจ, 27% ความรับผิดชอบ, 25% ความคิดสร้างสรรค์, 22% ความเที่ยงธรรม
โดย 73% ของ Gen Z ไทยบอกว่า พวกเขาเต็มใจจ่ายให้แบรนด์ที่ออกมาสนับสนุนในประเด็นที่พวกเขากำลังเคลื่อนไหวและให้ความสำคัญ ซึ่งนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญก็ว่าได้ สำหรับหลายๆ แบรนด์ที่ยังอยู่ระหว่างความเป็น traditional และ online
ขณะที่ 74% ของ Gen Z ทั่วโลก เชื่อว่า คนรุ่นพวกเขามีพลังในการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติของแบรนด์ให้ดีขึ้น จากพลังการเคลื่อนไหวของพวกเขา
พวกเขาจึงเป็นกลุ่มคนที่ต้องการความเท่ ความสร้างสรรค์ แต่ก็ต้องการปกป้องและขับเคลื่อนสิ่งที่ดีให้กับโลกใบนี้ พวกเขาพร้อมเสมอที่จะส่งเสียงบอกว่าแบรนด์ควรอะไร โดยมีเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญ
*รีเสิร์ชฉบับนี้สำรวจ Gen Z 32,000 คน จาก 26 ตลาดทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย
อ้างอิง
https://truthaboutgenz.mccannworldgroup.com/p/1
https://brandinside.asia/gen-z-mccann/
Content by Narisara Suepaisal
#Brief #business #TheMATTER