ไทยกำลังประสบอยู่กับอุทกภัยในหลายพื้นที่ และปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของภัยพิบัติในครั้งนี้ หนีไม่พ้นต้นเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศระดับโลก โดยมีงานวิจัยฉบับใหม่ออกมาย้ำว่า คนรุ่นลูกหลานจะเจอกับภัยพิบัติมากกว่าคนรุ่นปู่ย่าหลายเท่าตัว
งานศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ลงไปดูที่ประสบการณ์การพบกับสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว ของคนในแต่ละช่วงวัย และมันช่วยเปิดเผยให้เราเห็นว่า มันเกิดความอยุติธรรมระหว่างคนในแต่ละช่วงวัย จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงไม่น่าจะใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเห็นคนรุ่นใหม่อย่าง เกรตา ธันเบิร์ก ออกมาเรียกร้องการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เพราะคนรุ่นใหม่ กำลังจะรับผลกระทบทุกอย่าง จากสิ่งที่คนรุ่นเก่าเคยก่อเอาไว้
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเสรีแห่งบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียมประเมินว่า เด็กที่เกิดในปี 2020 จะมีโอกาสพบกับภัยพิบัติแบบสุดขั้วเฉลี่ย 30 ครั้งตลอดช่วงชีวิต ถึงแม้ว่าในหลายประเทศจะออกมาประกาศว่า พวกเขาจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพวกเขาจะทำได้ตามเป้าหมายจริงก็ตาม แต่มันก็อาจจะสายเกินไปมากเมื่อเปรียบเทียบปริมาณคลื่นกระแสความร้อน ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ซึ่งมากกว่าทศวรรษที่ 1960 กว่า 7 เท่าตัว
นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่อาจเจอกับเหตุน้ำท่วมและไฟป่าหนักมากขึ้น 2 เท่าตัว และมีโอกาสจะเจอกับน้ำท่วมจากแม่น้ำ และการสูญเสียของผลผลิตการเกษตรอีก 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับคนอายุ 60 ปีในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยระบุว่า ประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีลงไป จะต้องใช้ชีวิตแบบที่ “ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน” ไม่ว่าจะภัยพิบัติที่เกิดจากคลื่นความร้อน ภัยแล้ง น้ำท่วม และการสูญเสียของพืชผล ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะมีโอกาสเกิดขึ้นเพียงแค่ 0.01 เปอร์เซ็นต์ หากไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ที่กำลังทำให้โลกของเราร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบทันทีในตอนนี้ เพื่อให้อุณภูมิของโลกไม่เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ลดโอกาสการเจอกับคลื่นความร้อน ที่พวกเขากำลังพบอยู่ในปัจจุบันกว่าครึ่ง ในขณะที่การรักษาให้อุณภูมิเฉลี่ย ให้ไม่เพิ่มสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส จะช่วยลดโอกาสได้ประมาณ 1 ใน 4 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ หนทางหลักที่จะช่วยให้พวกเรารอดจากภัยพิบัติ ที่กำลังจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
งานวิจัยระบุเสริมว่า เด็กในยุคปัจจุบันจะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้น้อยกว่าคนรุ่นปู่ย่ากว่า 8 เท่าตัว เพื่อรักษาไม่ให้อุณภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นนี้กำลังชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมระหว่างรุ่นที่ว่า คนรุ่นก่อนได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ซึ่งมันกำลังส่งผลย้อนกลับมาที่คนรุ่นหลัง ในขณะที่คนรุ่นก่อนจะเสียชีวิตไปก่อน และไม่ได้เจอกับผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อย่างที่มันกำลังจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงชีวิตของคนรุ่นใหม่
อ้างอิงจาก
https://www.science.org/doi/10.1126/science.abi7339
#Brief #TheMATTER