คุณอาจจะคิดภาพของประเทศเผด็จการว่า พวกเขาน่าจะไม่เปิดรับผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ด้วยนโยบายฝ่ายขวา อย่างไรก็ดี บริเวณพรมแดนเบลารุส-โปแลนด์ กำลังเกิดวิกฤตขนานใหญ่ จากการเปิดรับผู้อพยพที่ลี้ภัยมาจากตะวันออกกลาง ทั้งอัฟกานิสถาน ซีเรีย อิรัก ฯลฯ โดยเรื่องราวจะเป็นอย่างไร The MATTER ได้สรุปมาให้แล้ว
ก่อนจะพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบริเวณพรมแดนเบลารุส-โปแลนด์ คงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า วิกฤตผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ที่ลี้ภัยเข้าสู่ยุโรปยังคงเกิดขึ้นมาเสมอ จากภัยสงครามและความขัดแย้งทางการเมืองของแต่ละประเทศในบริเวณตะวันออกกลาง ที่ยืดเยื้อมาตลอดระยะเวลาหลายปี ในขณะที่หลายชาติของยุโรปตะวันตก กำลังประสบกับปัญหาการรับผู้อพยพเข้ามาในประเทศ จากทั้งเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ปัญหาเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยของเบลารุส
เบลารุสได้รับสมญานามว่าเป็นประเทศเผด็จการแห่งสุดท้ายของยุโรป โดยทั้งประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ที่ขึ้นครองอำนาจประเทศตั้งแต่ปี 1994 ลูคาเชนโก ขึ้นชื่อเรื่องการปกครองที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการกวาดล้างคู่แข่งทางการเมือง ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เบลารุสแทบจะเป็นประเทศแกะดำ ในสายตาของชาติประชาธิปไตยตะวันตก ซึ่งมีสหภาพยุโรปเป็นจุดศูนย์กลาง
มีรายงานว่า ในปี 2020 มีผู้ถูกรัฐบาลเบลารุสจับกุมตัว จากความเห็นต่างทางการเมืองกว่า 30,000 ราย ซึ่งรวมถึงหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของเบลารุสด้วย โดยเฉพาะการจับกุมตัวหลังเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ของประเทศ เนื่องจาก ลูคาเชนโก ถูกกล่าวหาว่า เขาโกงการเลือกตั้งทั่วไป จนเบลารุสถูกชาติจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตร เนื่องจากชาติตะวันตกมองว่า รัฐบาลของลูคาเชนโก ไม่มีความชอบธรรมในการปกครองประเทศ
และด้วยการประกาศคว่ำบาตร จนส่งผลให้เบลารุสพบกับอุปสรรคทางการเมืองและเศรษฐกิจ แทนที่ ลูคาเชนโก จะปรับนโยบายทางการเมือง ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนลง เขากลับแก้เผ็ดชาติยุโรปตะวันตก ด้วยการเปิดรับผู้อพยพจากตะวันออกกลาง และผลักดันให้พวกเขาเดินทางเข้าสู่ยุโรปผ่านช่องทางพรมแดนโปแลนด์ อย่างไรก็ดี ผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอัฟกันจากอัฟกานิสถาน และชาวเคิร์ดจากอิรักและซีเรีย ที่เดินเข้ามายังเบลารุสแล้ว กลับติดชะงักอยู่บริเวณพรมแดนเบลารุสตะวันตก ติดกับพรมแดนโปแลนด์ตะวันออก
“ผมบอกพวกเขา (สหภาพยุโรป) แล้วว่า ผมจะไม่จับกุมผู้อพยพบริเวณพรมแดน ให้เขาอยู่ตรงบริเวณพรมแดน และถ้าพวกเขายังจะเข้ามาอีก ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ผมก็ยังจะไม่หยุดพวกเขา เพราะพวกเขาไม่ได้มาประเทศผม พวกเขาจะไปประเทศของพวกคุณ” ลูคาเชนโก ให้สัมภาษณ์กับ BBC โดยเป้าหมายของผู้อพยพส่วนใหญ่ วางปลายทางของพวกเขาเอาไว้ที่เยอรมนี
ตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนในปี 2021 จนมาถึงตอนนี้ บริเวณพรมแดนของเบลารุสที่ติดกับโปแลนด์ มีผู้อพยพตกค้างอยู่ประมาณ 2,000 คน และมีการประมาณการว่า มีผู้อพยพอาศัยอยู่ในเบลารุสแล้ว 5,000 คน อย่างไรก็ดี ผู้อพยพบางส่วนถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปยังที่พักในบริเวณใกล้เคียงแล้ว และเบลารุสยืนยันว่าจะผลักดันให้พวกเขาเดินทางเข้าสู่ยุโรป ผ่านช่องทางของโปแลนด์ต่อไป
มีคำบอกเล่าจากผู้อพยพระบุว่า เจ้าหน้าที่จากทางการของเบลารุส พยายามผลักดันทั้งด้วยการขอร้อง และบังคับให้พวกเขาข้ามพรมแดนไปยังโปแลนด์ ในขณะที่โปแลนด์เองก็พยายามปิดกั้นไม่ให้พวกเขาข้ามฝั่งมาจากเบลารุส ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ของเบลารุสบางรายได้แจกคีมตัดเหล็กให้ผู้อพยพใช้ตัดรั้ว เจ้าหน้าที่บางส่วนช่วยทำลายสิ่งกีดขวางที่กั้นพรมแดน เพื่อให้ผู้อพยพหนีเข้าพรมแดนโปแลนด์ และไม่เดินทางย้อนกลับเข้าไปยังตัวเมืองของเบลารุส
ก่อนหน้านี้ ลิธัวเนีย ประเทศเพื่อนบ้านของเบลารุสได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อปิดพรมแดนที่ติดกันกับเบลารุส ในการสกัดกั้นไม่ให้ผู้อพยพเดินทางเข้าสู่ประเทศของพวกเขา โดยนอกจากลิธัวเนียแล้ว ลัตเวีย ยูเครน และโปแลนด์ ยังเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับเบลารุส และพวกเขาพยายามปิดกั้นผู้อพยพจากเบลารุสมาโดยตลอด เช่นเดียวกับชาติสหภาพยุโรปอื่นๆ ที่ให้การสนับสนุนประเทศทั้งสี่ และต่อต้านการกระทำของเบลารุส โดยเฉพาะในโปแลนด์ ที่ทางการมีการเกณฑ์เจ้าหน้าที่จำนวน 3,000 ถึง 4,000 นาย จากกรุงวอร์ซอว์เพื่อทำการสะกัดกั้นการข้ามพรมแดน มีรายงานว่า การปิดกั้นผู้อพยพทำให้มีคนอย่างน้อย 8 รายเสียชีวิตจากอากาศหนาวบริเวณพรมแดนในช่วงกลางคืน
ชาติสหภาพยุโรปกำลังเตรียมการยกระดับการคว่ำบาตรเบลารุส เช่นเดียวกับความพยายามในการเจรจา โดย อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ได้ต่อสายตรงคุยกับ ลูคาเชนโก เพื่อหาทางออกจากวิกฤตในครั้งนี้ ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้นำชาติประชาธิปไตยตะวันตกมีการเจรจากับ ลูคาเชนโก โดยตรง นับตั้งแต่ปี 2020 ที่เขาถูกประกาศคว่ำบาตร ในขณะที่ NATO ออกมาระบุว่า “วิธีการแบบแอบแฝงของเบลารุสที่ใช้ผู้อพยพเป็นเครื่องมือ คือ สิ่งที่รับไม่ได้”
เบลารุสภายใต้การนำของ ลูคาเชนโก เป็นชาติพันธมิตรของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย โดยการต่อสายตรงคุยกันระหว่าง แมร์เคิลกับลูคาเชนโก เกิดขึ้นหลังจากที่ ปูติน เรียกร้องให้ผู้นำของสหภาพยุโรป พยายามพูดคุยโดยตรงกับ ลูคาเชนโก สำนักข่าวและนักวิชาการหลายสำนักยืนยันตรงกันว่า การเปิดรับผู้อพยพและผลักดันให้พวกเขาเดินทางเข้าสู่ยุโรปตะวันตกของเบลารุส เป็นเกมการเมืองของ ลูคาเชนโก ในการกดดันสหภาพยุโรปที่ทำการคว่ำบาตรรัฐบาลของเขา ในขณะที่สหภาพยุโรปเอง ก็กำลังประสบกับปัญหาผู้ลี้ภัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ ลูคาเชนโก พยายามกล่าวว่า เขาจะเปิดรับผู้อพยพที่เดินทางเข้าประเทศ เพื่อเป็นทางผ่านไปยังยุโรปตะวันตก อันด์แชย์ ดูดา ประธานาธิบดีของโปแลนด์ได้เดินทางมายังบริเวณพรมแดน เพื่อกล่าวให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของโปแลนด์ ด้วยการใช้วาทกรรมชาตินิยมที่ว่า โปแลนด์เป็นประเทศของชาวคริสต์ ซึ่งเป็นดินแเดนที่มีวัฒนธรรมของชาวโปแลนด์มาโดยตลอด เพื่อปลุกกระแสต่อต้านผู้อพยพมุสลิมจากตะวันออกกลางให้ปะทุมากยิ่งขึ้นไปอีก
เกมการเมืองของเบลารุส ประเทศเผด็จการแห่งสุดท้ายของยุโรป กับชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการ และรับมือผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางและเอเชียเอง ยังคงปะทะกันต่อไป แต่ในทางตรงกันข้าม มีรายงานว่าผู้อพยพหลายคนถูกใช้ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำลังเผชิญหน้ากับอากาศอันหนาวเหน็บ การขาดแคลนอาหารและยา โดยหลายร้อยคนในนั้นเป็นเด็กกับผู้หญิง และปัญหาต่างๆ ข้างต้นยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ
วิกฤตพรมแดนเบลารุสและโปแลนด์อาจจะยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะ ลูคาเชนโก ยังคงเปิดรับผู้อพยพให้เดินทางผ่านเบลารุส ในขณะที่ชาติตะวันตกเองยังคงให้การสนับสนุนโปแลนด์ในการปิดพรมแดน เพื่อไม่ให้ผู้อพยพเดินทางข้ามฝั่งมายังยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่า เบลารุสเองกำลังใช้วิธีการนำผู้อพยพ มาเป็นเครื่องมือในการกดดันชาติตะวันตก จากการคว่ำบาตรรัฐบาลที่มีข้อกังขาว่าโกงการเลือกตั้งของ ลูคาเชนโก กับคำถามที่ว่า ชาติยุโรปตะวันตกจะจัดการกับวิกฤตด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย ที่หลบหนีสงครามจากบ้านเกิดของพวกเขา เพื่อหาสถานที่และโอกาสในการมีชีวิตอย่างปลอดภัยในยุโรปได้อย่างไร
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/2021/11/11/europe/belarus-poland-crisis-explainer-cmd-intl/index.html
https://www.nytimes.com/2021/05/26/world/europe/whats-happening-in-belarus.html
https://www.bbc.com/news/world-europe-59343815
#Explainer #TheMATTER