คู่รักแยกทางกันด้วยเหตุผลอะไรบ้าง หมดแพชชั่น เข้ากันไม่ได้ หรือนอกใจ? แต่สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนกันไม่เป็นปัญหาของนกอัลบาทรอสมากเท่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หลังการศึกษาพบว่า ในช่วงที่ผ่านมาอัลบาทรอสแยกทางกับคู่ครองมากขึ้น โดยมีสาเหตุจาก ‘ภาวะโลกรวน’
นกอัลบาทรอสเป็นหนึ่งในสัตว์ที่ขึ้นชื่อว่าซื่อสัตย์มากที่สุดในโลก แต่แน่นอนว่าในช่วง ‘ลองผิดลองถูก’ พวกมันก็เปลี่ยนคู่รักไปเรื่อยๆ เพื่อพยายามหาความสัมพันธ์ที่เข้ากันได้ดี และเมื่อเจอ ‘นกตัวที่ใช่’ ส่วนใหญ่พวกมันก็จะใช้ชีวิตด้วยกันไปตลอดชีวิต โดยมีเพียง 1% ของอัลบาทรอสเท่านั้นที่จะแยกจากกันหลังจากเลือกคู่ชีวิตแล้ว ซึ่งอัตราการหย่าร้างนี้ต่ำกว่าอัตราการหย่าร้างของมนุษย์ในหลายๆ ประเทศเสียอีก
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เงื่อนไขในการใช้ชีวิตร่วมกันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น และ ‘ภาวะโลกรวน’ ก็ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่มีผลต่อการครองคู่ของนกอัลบาทรอส โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Royal Society ได้ศึกษาคู่รักนกอัลบาทรอสกว่า 15,000 คู่บนหมู่เกาะฟอล์คแลนด์เป็นเวลากว่า 15 ปีและพบว่า ในปีที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิอุ่นขึ้น คู่รักอัลบาทรอสมีอัตราการหย่าร้างกันสูงขึ้นถึง 8%
ตามปกติแล้วการแยกทางของคู่รักนกอัลบาทรอสจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทั้งคู่ล้มเหลวในการผสมพันธุ์ ดังนั้นพวกมันจึงต้องหาคู่ใหม่ในฤดูกาลผสมพันธุ์หน้า แต่การศึกษาพบว่า ช่วงที่ผ่านมาคู่รักนกอัลบาทรอสแยกทางกันมากขึ้น แม้จะผสมพันธุ์สำเร็จ
Francesco Ventura นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลิสบอนมองว่ามี 2 ทฤษฎีที่เป็นไปได้คือ อย่างแรก เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลอุ่นขึ้น ปลาซึ่งเป็นอาหารหลักก็น้อยลง นกอัลบาทรอสจึงต้องออกล่าไกลขึ้น และมีโอกาสที่จะกลับมาไม่ทันฤดูผสมพันธุ์ คู่ของมันจึงไปหาตัวใหม่ และทฤษฎีที่ 2 คือ เมื่อน้ำอุ่นขึ้น ก็หาอาหารยากขึ้น ฮอร์โมนความเครียดของอัลบาทรอสจึงเพิ่มขึ้นด้วย และไม่สามารถ ‘ทำผลงานได้ดี’ ในการผสมพันธุ์ ท้ายที่สุดจึงนำมาสู่การปยกทางการของคู่รัก
แน่นอนว่าปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข และไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการได้ในเร็ววัน แต่หากไม่เริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรตั้งแต่วันนี้ อาจส่งผลกระทบต่อประชากรนกอัลบาทรอสในอนาคต
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/newsbeat-59401921
https://www.washingtonpost.com/world/2021/11/24/albatross-climate-change-divorce-rate-rise/
#Brief #TheMATTER