นักวิจัยชิลีพบไดโนเสาร์หุ้มเกราะสายพันธุ์ใหม่ที่มีอาวุธหางโดดเด่นอย่างที่ไม่เคยเห็นในไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นมาก่อน
นักวิจัยชาวชิลีค้นพบกระดูกฟอสซิลของไดโนเสาร์หุ้มเกราะขนาดเล็กสายพันธุ์หนึ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่จังหวัดมากัลลาเนส ในปาตาโกเนีย ภูมิภาคทางตอนใต้สุดของชิลี ก่อนจะพบว่าฟอสซิลที่เพิ่งค้นพบนั้นมีลักษณะแตกต่างจากไดโนเสาร์หุ้มเกราะสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยพบและได้ตั้งชื่อใหม่ว่า ‘Stegouros elengassen’
Stegouros elengassen มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียส หรือราวๆ 71.7-74.9 ล้านปี และมีความโดดเด่นตรงส่วนหาง Stegouros elengassen มีลักษณะหางที่สั้น แต่ช่วงตัวด้านหลังของมันมีการงอกขึ้นของกระดูกในชั้นหนัง ก่อนจะวิวัฒนาการมาเป็นอาวุธ มีกระดูกนูนขึ้นมาด้านข้าง 7 คู่ ซึ่งคาดว่าเอาไว้ใช้ป้องกันตัวจากคู่ต่อสู้ที่มีขนาดตัวใหญ่กว่า
หากใครยังนึกภาพไม่ออก ทีมวิจัยอธิบายว่า หางของเจ้าไดโนเสาร์หุ้มเกราะสายพันธุ์นี้มีลักษณะเหมือนงูหางกระดิ่งหรือจิ้งจกหางหนาม แต่ต่างกันตรงที่ Stegouros elengassen มีกระดูกจริงอยู่ใต้เกล็ด หรือหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้นคือมีลักษณะเหมือนหางของตัวนิ่มยักษ์นั่นเอง
นอกจากส่วนหาง Stegouros elengassen ยังมีลักษณะแตกต่างจากไดโนเสาร์หุ้มเกราะสายพันธุ์ตรงที่มันมีหัวที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ปากมีลักษณะโค้งและแคบ แขนขาเรียวเล็ก ไม่มีกรงเล็กแหลมคม เท้ามีลักษณะเป็นกีบ ซึ่งไม่เหมือนกับไดโนเสาร์หุ้มเกราะที่เคยรู้จัก
ไม่เพียงแต่หางของ Stegouros elengassen เท่านั้นที่น่าสนใจ เพราะการพบฟอสซิลของไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้ยังช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไดโนเสาร์หุ้มเกราะสายพันธุ์อื่นๆ ได้ด้วย และพบว่าการแยกสายพันธุ์ออกมาเป็น Stegouros elengassen นั้นมีความเกี่ยวข้องกับการแยกตัวของทวีปแพนเจียในช่วง 145-200 ล้านปีก่อน โดยหลังจากที่มหาทวีปแยกตัวและกลายเป็นทวีปต่างๆ ทำให้ไดโนเสาร์ตระกูลหุ้มเกราะมีลักษณะแตกต่างกัน เพราะต้องวิวัฒนาการการเพื่อปรับตัวกับดินแดนใหม่ต่างกัน
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/…/new-armored…/index.html…