ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในสหรัฐฯ และอังกฤษ รวมตัวกันฟ้องร้องเฟซบุ๊ก เรียกค่าเสียหายรวมกันกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกรณีที่เฟซบุ๊กไม่ยอมลบโพสต์ปลุกปั่นความเกลียดชัง หรือ ‘hate speech’ ซึ่งเมื่อประกอบกับระบบอัลกอรึทึ่มของเฟซบุ๊ก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมา
เอกสารฟ้องร้องที่ยื่นต่อศาลในซาน ฟรานซิสโก ระบุว่า เฟซบุ๊กนั้น “ยอมแลกชีวิตของชาวโรฮิงญา เพื่อให้ได้มาซึ่งการเจาะตลาดในประเทศเล็กๆ [เมียนมา] ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งในท้ายที่สุด “เฟซบุ๊กก็แทบไม่ได้อะไรจากการคงอยู่ในเมียนมา ในขณะที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างถึงที่สุด ถึงกระนั้น แม้จะรู้เรื่องนี้ดี และมีเครื่องมือในการหยุดยั้ง แต่เฟซบุ๊กก็ยังคงเดินหน้าต่อไป”
ข้อกล่าวหาที่ฟ้องร้องต่อศาลทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และอังกฤษ ได้แก่ (1) อัลกอรึทึ่มของเฟซบุ๊กช่วยแพร่กระจายโพสต์ที่สร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา (2) เฟซบุ๊กไม่ยอมลงทุนจ้างนักตรวจสอบข้อเท็จจริงในเมียนมาที่เข้าใจสถานการณ์การเมืองเป็นอย่างดี (3) เฟซบุ๊กไม่ยอมลบโพสต์และบัญชีที่ปลุกระดมความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา และ (4) เฟซบุ๊กไม่ได้มีมาตรการออกมาอย่างเหมาะสมและทันเวลา แม้จะมีคำเตือนจากองค์กรและสื่อต่างๆ ก็ตาม
ทางฝั่งเฟซบุ๊กยังไม่ได้ออกมาโต้ตอบอะไรกับข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่เมื่อปี 2018 เฟซบุ๊กก็เคยออกมายอมรับว่า บริษัทยังไม่ได้มีมาตรการที่เพียงพอในการจัดการกับการปลุกระดมความรุนแรงและความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา และจากรายงานที่เฟซบุ๊กจ้างองค์กรภายนอกให้จัดทำขึ้น ก็ระบุว่า “เฟซบุ๊กได้กลายมาเป็นเครื่องมือให้กับผู้ที่มุ่งแพร่กระจายความเกลียดชังและกระทำอันตราย และโพสต์ต่างๆ ก็มีความเชื่อมโยงกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง”
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-59558090
https://www.businessinsider.com/rohingya-refugees-sue-facebook-150-billion-myanmar-genocide-2021-12