หัวลำโพงจะเป็นอย่างไรต่อไป? คือคำถามที่อยู่ในใจของหลายคน โดยเฉพาะผู้สัญจรใช้รถไฟเป็นปกติ ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและมีตัวแทนจากทั้งกระทรวงคมนาคม, การรถไฟแห่งประเทศไทย, ภาคประชาสังคม รวมถึงนักการเมืองเข้าร่วม
หนึ่งคำตอบที่ได้รับการยืนยันจากปากของรองปลัดกระทรวงคมนาคมและรองอธิบดีกรมขนส่งทางรางคือ “จะไม่มีการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่จะเป็นการลดบทบาท” กล่าวคือ รถไฟจากชานเมืองจะยังคงวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพงอยู่ แต่จะลดจากเดิม 128 ขบวนเหลือ 22 ขบวน โดยแบ่งเป็นสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ขบวน สายใต้ 2 ขบวน และสายตะวันออก 14 ขบวน
ภายในเวที มีการเปิดวีดีทัศน์ 4 ชิ้น ซึ่งอธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องย้ายไปที่สถานีบางซื่อ โดยเน้นหนักไปที่บางซื่อในฐานะจุดศูนย์กลางการขนส่ง และยืนยันว่าจะสามารถช่วยลดปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ได้อย่างมาก เพราะจะลดการใช้เครื่องปิดกั้นทางรถไฟจาก 826 ครั้ง/ วัน เหลือ 112 ครั้ง/ วัน โดยระบุว่าจะลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากรถติดได้ถึง 81 ล้านบาท/ ปี
ประเด็นนี้ ถูกหลายฝ่ายถกเถียงมากว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะปัญหารถติดในกรุงเทพฯ มีปัจจัยหลายอย่างร่วม และรถไฟไม่ใช่ปัญหาหลักแต่อย่างใด
แล้วถ้าไม่ทุบสถานีหัวลำโพงจะทำอย่างไรต่อไป? สำหรับประเด็นเรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่หัวลำโพงส่วนอื่นๆ ตัวแทนจากบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่ยืนยันว่าจะปรับเปลี่ยนสถานีหัวลำโพงไปในทิศทางไหน มีเพียง “แนวคิด” เท่านั้น และยังต้องมีการศึกษาในอีกหลายขั้นตอน
โดยตัวแทนจากเอสอาร์ทียืนยันอีกเสียงว่าในพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 120 ไร่ จะไม่มีการทุบสถานีรถไฟหัวลำโพง, อนุเสาวรีย์ช้างสามเศียร ซึ่งเป็นหลัก กม. ที่ศูนย์ของรถไฟ, อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง, ตึกแดง (ตึกพัสดุ) และตึกบัญชาการรถไฟจะไม่มีการปรับเปลี่ยน แต่จะมีการซ่อมแซมและปรับปรุงใหดีขึ้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือรวมประมาณเกือบ 90 ไร่ จะพัฒนาภายใต้แนวคิดเน้นพิ้นที่สีเขียว, การใช้อย่างผสมผสาน (Mix Use) รวมถึงเปลี่ยนเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ สำหรับภาพที่มีตึกสรรพสินค้าสูงขึ้นมาหลังสถานีหัวลำโพง ตัวแทนจากกระทรวงคมนาคมและบริษัทเอสอาร์ทีไม่ได้พูดถึง
ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาแย้งตัวแทนจากคมนาคมคือ การจัดลำดับความสำคัญ โดย สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. พรรคก้าวไกลระบุว่า ปัญหาคือในขณะนี้โครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสีแดง ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งจะเชื่อมการเดินทางให้เป็นระบบถูกชะลอออกไปก่อน เพราะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งทับกับ Missing Link อย่างพอดิบพอดี ถูกดันขึ้นมาและนำงบประมาณไปใช้ก่อน
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจและถูกเถียงกันมานานคือ เรื่องหนี้สินกว่า 100,000 ล้านบาทของการรถไฟ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย
ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์จาก TDRI อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า ทุกวันนี้ต้นทุนการเดินรถของรถไฟอยู่ที่ 3.37 บาท/ กิโลเมตร แต่ถูกดอยู่ที่ 21.5 สตางค์/ กิโลเมตร เพราะภาครัฐอยากให้รถไฟเป็นการขนส่งสาธารณะที่มีราคาถูก โดยภาครัฐจะช่วยการรถไฟ 90 สตางค์/ กิโลเมตรแทน อย่างไรก็ตาม ยังไม่เพียงพอทำให้ รฟท. ยังคงขาดทุนเฉลี่ยนปีละ 3,000 – 6,000 ล้านบาท
TDRI เสนอว่าควรจะเพิ่มราคาการเดินรถให้อยู่ที่ 40 สตางค์/ กิโลเมตร ซึ่งจริงๆ ถือว่าไม่สูงมากถ้าเทียบกับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น เพราะหลังจากนี้ ยังมีการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานอีกมากที่น่าจะทำให้รถไฟขาดทุนเพิ่มขึ้น ตรงนี้ ดร.สุวิทย์ มองว่าภาครัฐควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่โยนให้กับรถไฟรับผิดชอบ เพราะจะทำให้ยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้น
อีกหนึ่งเรื่องที่หลายฝ่ายพูดถึงกันมากคือ การปิดหรือลดบทบาทของหัวลำโพง ควรมีการทำประชาพิจารณ์พูดคุยกับประชาชนเสียก่อน ซี่งก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีมาก่อน
อ้างอิง:
https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=293607779370472