“มาวิ่งด้วยกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนการศึกษาและส่งกำลังใจให้กับน้องๆ ..” กระแสวิ่งเพื่อการกุศลกลับมาอีกครั้ง หลัง ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ‘ตูน บอดี้แสลม’ ออกมาประกาศโครงการ ก้าวเพื่อน้องเวอร์ชวลรัน ‘๑๐๙ คำขอบพระคุณ’
แต่เป็นการกลับมาด้วยกระแสที่แตกต่างจากครั้งก่อน โดยมองว่า การวิ่งเพื่อการกุศลไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะการกุศล เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นๆ เท่านั้น แถมยังเป็นโครงการที่จัดขึ้นมาเพื่อช่วยเด็กเพียง 109 คน ขณะที่มีเด็กจะหลุดออกจากการศึกษาในช่วงปีที่ผ่านมานับหมื่นคน
The MATTER ขอชวนมาดูว่า ทำไมการศึกษาถึงควรเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่การกุศล
- ทำไมการกุศล ถึงแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559-2560 ที่ตูนออกมาวิ่งเพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาลในประเทศ แม้จะมีกระแสชื่นชมค่อนข้างมาก แต่ก็มีบางส่วนที่มองว่า การวิ่งระดมทุนเป็นการกลบปัญหาการจัดสรรงบประมาณที่ล้มเหลวของรัฐบาล
เช่นเดียวกับนักเขียนนิตยสารชื่อดังคนหนึ่ง ที่เคยแสดงความคิดเห็นเอาไว้เมื่อปี 2556 ว่า ตูนจะไม่ได้เงินจากตนแม้แต่บาทเดียว เพราะงบของประเทศถูกรัฐบาลนำไปซื้ออาวุธมหาศาล และระบุด้วยว่า “การวิ่งของพี่ตูน คือการกลบปัญหาให้รัฐบาลทหาร ตอบสนองพวกสลิ่มในทุ่งลาเวนเดอร์ไปวันๆ แก้แต่ปัญหาระยะสั้น แต่ระยะยาว ไม่ได้แก้อะไรเลย”
ประเด็นนี้ สอดคล้องไปกับสิ่งที่ผู้คนร่วมกันแชร์ผ่าน #พี่ตูนวิ่งทำไม ในโลกออนไลน์ว่า ปัญหานี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องจัดสรรให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา และที่ผ่านมารัฐบาลก็ปล่อยให้ประเทศขับเคลื่อนด้วยการบริจาค ให้ประชาชนพึ่งพิงตัวเองกันอยู่เสมอ ทั้งเรื่องของสาธารณสุขและเรื่องการศึกษา
ขณะที่ อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า การทำการกุศลเหมาะกับการระดมทุนสั้นๆ เพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนบางอย่าง แต่ในหลายประเทศ งานแบบนี้ถูกตั้งคำถามว่าเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายทาง เพราะระบบบริหารจัดการของรัฐมีประสิทธิภาพ ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยกลไกเหล่านี้
อ.อรรถพล กล่าวอีกว่า เรื่องของการกุศลมักจะเป็นเรื่องของผู้ที่มีความพร้อมมาช่วยเหลือผู้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่แย่กว่า ซึ่งเป็นวิธีคิดที่อาจถูกจริตกับสังคมไทยที่มีค่านิยมเรื่องการทำบุญทำทาน
“คอนเซ็ปต์การกุศลกับสังคมไทย ดูจะเป็นคอนเซปต์ที่ถกเถียงกันมานานที่สุด ในช่วง 20-30 ปีนี้ เพราะว่า ถ้าเรามีกลไกภาครัฐที่เข้มแข็ง มีการจัดสรรงบประมาณที่ตอบโจทย์การทำงานจริงๆ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องการระดมทุนระยะสั้น ผ่านงานการกุศลเหล่านี้เลย”
ขณะเดียวกัน การกุศลยังเป็นมรดกตกค้างจากสังคมไทยยุคเก่าที่เชื่อว่าผู้มีอันจะกินจะบริจาคให้กับผู้ที่ยากไร้ ซึ่ง อ.อรรถพลย้ำว่า คอนเซ็ปต์นี้อาจจะใช้ได้ผลกับบางเรื่อง เช่น การระดมทุนในปัญหาที่หน่วยงานภาครัฐขยับตัวได้ช้า แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้คนจะรู้ว่าการกุศลไม่สามารถแบกรับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้
นอกจากนี้ อ.อรรถพล ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยไม่เคยขาดแคลนงบการศึกษา แต่คำถามที่ตามมาก็คือภาครัฐใช้เงินกันอย่างไร ระบบการกำกับติดตามมันมีปัญหาในการตรวจสอบหรือเปล่า ทั้งที่เรามีตาข่ายสังคมรองรับเด็กก่อนหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งหลายชั้น แต่สิ่งที่ตูนทำกลับเหมือนหลับตา ซึ่งทำให้ปัญหามันถูกกลบซ่อนไป
- การศึกษาเป็นสิทธิที่ทุกคนต้องได้รับ
“รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายถูกนำไปใช้สนับสนุนน้องๆที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ยังไม่มีทุนไปต่อ ม.ปลาย หรือสายอาชีพ ได้ทั้งหมด 109 คน” ข้อความที่ระบุในแคมเปญระดมทุน
ประเด็นนี้ อ.อรรถพลกล่าวว่า “การที่ตูนจะมาวิ่งเพื่อช่วยเด็ก 109 คน ก็มีคำถามเยอะมากว่าทำไมต้อง 109 คน เพราะตลอดช่วงปีที่ COVID-19 ระบาด เด็กที่มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบไม่ใช่หลักร้อย แต่เป็นหลักหลายหมื่น ซึ่งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประเมินออกมาว่ามีโอกาส 9 หมื่นกว่าคนที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา”
“แต่ทำไมต้องมาเจาะจงแบบนี้ เป็นแคมเปญหรือเปล่า เอาเงินไปแล้วมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางไหม ทำไมพี่ตูนไม่ออกมาตั้งคำถามกับกลไกที่มีอยู่ เช่น กลไกทางกฎหมาย รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หรือ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ที่กำลังเถียงกันอยู่ ถ้าตูนกังวลเรื่องนี้ก็น่าจะชวนตั้งคำถาม”
สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้อยู่ปัจจุบันนั้น ได้ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่กำหนดให้การศึกษาเป็น ‘สิทธิ’ ของประชาชน ย้ายไปไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ ให้รัฐมี ‘หน้าที่’ จัดการศึกษาให้ประชาชน ขณะที่ยังคงช่วงเวลาของการเรียนฟรีไว้ที่ 12 ปี แต่เปลี่ยนเป็นให้เริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งแปลว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดหน้าที่ให้รัฐจัดการศึกษาฟรี ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.3
นี่เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมายาวนาน เพราะเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้น จะระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งตาม พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2542 ระบุคำนิยามของการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้ว่า นับตั้งแต่ ชั้น ป.1-ม.6
ประเด็นนี้ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ The MATTER ว่า การร่นเวลาลงมานี้ ทำให้มันขาด ม.ปลายไป 3 ปี และเด็กหลุดออกจากการศึกษา เพราะแบกรับค่าเทอมไม่ไหว ซึ่งสถิติในปีนี้ พบว่า เด็กช่วงชั้น ม.3 ที่จะเรียนต่อในชั้น ม.4 หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว 48%
“ถามว่าสิ่งที่รัฐอุดหนุนพอไหม ที่สุดแล้วก็ไม่พอ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจน ถ้าเด็กยากจนมากๆ เขาอาจไม่ได้ไปต่อ และนั่นหมายถึงเราสูญเสียโอกาสการพัฒนาคนไปเยอะมาก”
“ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ การศึกษาภาคบังคับของเขาก็สุดที่ ม.3 แต่การศึกษาฟรี หลัง ม.3 คุณเลือกได้ว่าคุณจะทำอย่างไรกับชีวิตคุณ โดยมีรัฐดูแลคุณอย่างเบ็ดเสร็จทั้งระบบ แต่มันไม่ใช่กับบริบทประเทศไทย เรายังมีเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษาและจะหลุดออกจากการเทรนนิ่งไปด้วยซ้ำ”
“แต่ก็จะกลับมาสู่คำถามเดิมคือมันจะฟรีจริงใช่ไหม คือไม่ว่าคุณให้การศึกษาภาคบังคับเป็น 12 ปีเริ่มปฐมวัย สุดที่ ม.3 หรือจะแบบไหนก็ตามแต่ คุณทำให้มันฟรีจริงได้หรือเปล่า คุณทำให้เป็นสวัสดิการจริงได้หรือเปล่า เพราะถ้าคุณทำไม่ได้ ไม่ว่าจะโมเดลไหนก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น” ครูจุ๊ยกล่าว
- การจัดสวัสดิการการศึกษาที่ดี จะช่วยเด็กได้อย่างไร
“การศึกษาไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐต้องจัดให้เป็นสวัสดิการให้เปล่า แล้วก็ต้องมีคุณภาพทั่วถึงเท่าเทียมกัน” อ.อรรถพลกล่าว
แต่ประเด็นนี้ก็ยังยึดโยงกับความเชื่อเรื่องของการจัดการศึกษาในประเทศไทยอยู่ โดย อ.อรรถพล ระบุว่า หากยังมองว่าโรงเรียนเป็นตลาดโรงเรียนที่ต้องแข่งขัน ก็จะส่งผลต่อการจัดการงบประมาณ ที่ทำให้โรงเรียนเล็กๆ ต้องปิดตัวไป เหลือแต่โรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยนโยบายเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการงบประมาณอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
เราทราบกันดีว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคที่กีดกันความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของชีวิต ซึ่ง พาซี ซัห์ลเบิร์ก นักการศึกษาชาวฟินแลนด์ กล่าวไว้ว่า ยิ่งประเทศมีความเสมอภาคมากเท่าใด ประชากรก็ยิ่งมีการศึกษา และสุขภาพจิตดีมากขึ้นเท่านั้น รวมไปถึงมีอัตราเด็กเลิกเรียนกลางคัน ปัญหาโรคอ้วน และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นน้อยกว่าประเทศที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงด้วย ซึ่งความไม่เสมอภาคเหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการเรียนการสอนในโรงเรียน
แต่แน่นอนว่า ความเสมอภาค ความเท่าเทียม จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยเงื่อนไขอีกหลายประการ ทั้งสถาบันทางการเมืองที่ประชาชนสามารถไว้วางใจและตรวจสอบการทำงานได้ สถาบันทางเศรษฐกิจ กลไกตลาด รวมถึงสถาบันทางสังคมและครอบครัวที่เข้มแข็ง รัฐสวัสดิการจึงจะเกิดขึ้นจริงได้
ดังนั้นแล้ว การวิ่งระดมทุนเพื่อการกุศลของตูน บอดี้สแลม จึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหาการศึกษา ทั้งยังเป็นการฝังกลบปัญหาให้ไม่ถูกแก้ไขอย่างที่ควรเป็นด้วย
อ้างอิงเพิ่มเติมจาก
https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_6792814
https://www.matichon.co.th/education/news_3019144
https://www.bbc.com/thai/features-45698818
#พี่ตูนวิ่งทำไม #การศึกษา #Explainer #TheMATTER