หมูแพงเพราะหน่วยงานรัฐปกปิดความจริง? คือคำถามที่ผู้คนกำลังสงสัย หลังจาก ‘ไทยรัฐพลัส’ พบหลักฐานที่ตอกย้ำข้อสงสัยว่า ภาครัฐได้ปกปิด ‘อหิวาต์แอฟริกาในสุกร’ จนทำให้หมูตายมากมาย จนไม่มีการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการ ส่งผลกระทบต่อราคาเนื้อหมู และค่าครองชีพที่เกี่ยวข้องกัน
The MATTER สรุปเรื่องราวทั้งหมดไว้ในโพสต์นี้นะ
#อหิวาต์แอฟริกาในสุกร โรคติดต่อร้ายแรงในหมูที่ยังไม่มีวัคซีน
1) เริ่มต้นที่โรคนี้กันก่อนว่ามันคืออะไร ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมปศุสัตว์ อธิบายว่า มันคือโรคอติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสัตว์ตระกูลสุกรซึ่งมีหมูป่าเป็นรังโรค ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ แต่มันก็สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้
2) ที่สำคัญคือ ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค จนทำให้ถ้าเกิดการระบาดเป็นวงกว้างแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก หมูที่หายป่วยแล้ว สามารถแพร่เชื้อโรคได้ตลอดชีวิต และเป็นโรคที่รุนแรงมากๆ หมูที่ติดเชื้อนี้แล้วสามารถตายได้ฉับพลันเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
3) ส่วนเชื้อโรคนี้สามารถปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารได้ เช่น ไส้กรอก แฮม เนื้อหมู และซาลามี
4) เอกสารที่จัดทำขึ้นโดย ‘สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์’ ประเมินถึงผลกระทบที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จะมีต่อเศรษฐกิจเอาไว้หลายข้อ เช่น
-ค่าใช้จ่ายทางตรง สำหรับการป้องกันและควบคุมโรค : อย่างน้อยประมาณ 15,875 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐ เช่น การทำลายหมูและซากหมู
-ค่าใช้จ่ายทางตรง อันเป็นผลกระทบจากการควบคุมโรค : อย่างน้อยประมาณ 19,627 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้น จากหลายสาเหตุ เช่น การสูญเสียสุกร การไม่สามารถส่งสุกรในพื้นที่เกิดโรคระบาดเพื่อจำหน่าย
-ค่าใช้จ่ายทางอ้อม อันเป็นผลจากการเกิดโรคภายในประเทศ : อย่างน้อย 27,674 ล้านบาท จากการถูกระงับการส่งออกสินค้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรของประเทศไทย
-สำหรับผลกระทบภายหลังจากโรคสงบแล้ว เช่น ภาวะอุปสงค์ของสุกรสูงในช่วงแรก และอุปทานที่อาจสูงจนเกินความต้องการ รวมไปถึงการเลิกกิจการของเกษตรกรรายย่อย
ที่ผ่านมา สถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พบการระบาดในหลายประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาคอาเซียนไทย เช่น เวียดนาม สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา นอกจากนี้ ยังพบการระบาดในอินเดีย จีน ฮ่องกง และเกาหลีใต้
#โรคระบาดในหมูไทยและคำยืนยันจากรัฐ
5) ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเกิดโรคระบาดในหมูกันอยู่เรื่อยๆ หนึ่งในนั้นมาจากความกังวลเรื่องที่ว่า มันมีอหิวาต์แอฟริกาเกิดขึ้นในไทยแล้วหรือไม่ และถ้ามีจริงๆ ภาครัฐก็ควรแจ้งเตือนอย่างจริงจังและเป็นทางการโดยด่วน
6) ก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวที่ไต้หวันพบกรดนิวคลีอิก ของเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรจากพัสดุไปรษณีย์จากประเทศไทย ถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกพบในวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ส่วนครั้งที่สองพบเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2565
7) สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 เอาไว้ว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นพบว่า เนื้อหมูที่นำมาใช้ผลิตกุนเชียงน่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน และ
8.) ข่าวเรื่องที่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้ยืนยันว่า ยังไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมูที่ประเทศไทย ถูกเผยแพร่ซ้ำอีกครั้งผ่าน เว็บไซต์ ‘อย่างเป็นทางการ’ ของกรมปศุสัตว์
“การเก็บตัวอย่างเฝ้าระวังเพื่อการวินิจฉัยโรคในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และฟาร์มที่พบสุกรป่วยตายผิดปกติ ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลเป็นลบต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั้งหมด ซึ่งผลจากการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทำให้ ปัจจุบันยังไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรประเทศไทย” คือข้อความที่อยู่บนเว็บไซต์ของกรมปศุสัตว์
9) ไม่เพียงแค่นั้น ประชาชาติธุรกิจ ได้รายงานถึง การให้สัมภาษณ์ของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในวันที่ 7 ม.ค. 2565 ว่าประเทศไทย ยังปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
#การเปิดเผยข้อมูลจากไทยรัฐพลัส
10) อย่างไรก็ดี ไทยรัฐพลัส ได้เผยแพร่ข่าวถึงหลักฐานการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ไทย
สกู๊ปข่าวชื่อ “เปิดหลักฐานยืนยัน หมูตายด้วยโรค ‘อหิวาต์แอฟริกาในสุกร’ กับข้อสงสัยกรมปศุสัตว์ปกปิดความจริง” ได้นำหลักฐานมาแย้งภาครัฐว่า มันมีหมูป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจริงๆ ในไทย
หลักฐานที่ไทยรัฐพลัส นำมาเปิดเผยคือ สำเนาเอกสารแจ้งผลการชันสูตรซากหมูที่ตาย ซึ่งตรวจชันสูตรโดยห้องแล็บของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2564
สกู๊ปข่าวของไทยรัฐพลัส ระบุว่า
“เอกสารระบุชัดว่า ตัวอย่างซากสุกรที่ส่งตรวจนั้นป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ซึ่งหลังทราบผลชันสูตร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวไปยังหน่วยงานในกรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้ว”
“จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่กรมปศุสัตว์จะไม่ทราบว่ามีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแพร่ระบาดในประเทศไทย”
11) นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจากแหล่งข่าวว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดเข้ามาเมืองไทยมากกว่า 1 ปีแล้ว โดยเข้ามาที่ภาคเหนือก่อน
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นโรคที่เคลื่อนตัวช้า เพราะมันติดต่อผ่านเลือด อาหาร ปัสสาวะ อุจจาระ ไม่ได้แพร่กระจายเร็วเหมือนโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ หรือโรคที่แพร่กระจายทางอากาศ ดังนั้น ถ้าเปิดเผยว่า มีโรคนี้ระบาดตั้งแต่เนิ่นๆ เกษตกรก็จะเตรียมตัวรับมือได้ดีกว่านี้
12) จากหลักฐานชิ้นนี้ จึงนำไปสู่คำถามว่า มันเป็นไปคนละทางกับคำชี้แจงของกรมปศุสัตว์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ยืนยันว่า ไม่มีการระบาดของโรคนี้ในหมูไทย
เช่นเดียวกับข้อสังเกตว่า ถ้ามีโรคดังกล่าวระบาดจริงๆ การที่รัฐเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่เนิ่นๆ ก็น่าจะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สามารถหาวิธีรับมือได้อย่างทันที และผลกระทบอาจจะไม่บานปลายมาถึงขนาดนี้
#ผลกระทบของหมูขาดแคลน
13) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากปัญหาเรื่องโรคระบาดในหมู และต้นทุนต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ ราคาเนื้อหมูเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นราว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
14) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ด้วยว่า การที่หมูแพงขึ้น อาจจะผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้ง ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืชก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการขายปลีก โดยเฉพาะรายย่อย ร้านอาหาร ตลอดจนผู้บริโภคที่มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้น 8-10%
15) หลังจากนี้ เราต้องติดตามคำชี้แจงจากภาครัฐ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องว่า ตกลงแล้ว สถานการณ์อหิวาต์แอฟริกาในสุกร ของประเทศไทยเป็นอย่างไร มันมีโรคนี้ระบาดอยู่จริงไหม? ถ้ามีอยู่จะจัดการอย่างไร รวมถึงผลกระทบที่ส่งผลต่อค่าครองชีพคนทั้งประเทศ
อ้างอิงจาก
https://dld.go.th/…/hoti…/asf/ContingencyPlanAndCPG2.pdf
https://dld.go.th/…/341-news…/24423-2021-12-24-15-11-24
https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6821260
https://plus.thairath.co.th/topic/money/100927
https://www.prachachat.net/economy/news-836964
https://www.bangkokbiznews.com/business/981432
#recap #หมูแพง #TheMATTER