สื่อมวลชนโดยทั่วไป ไม่กลัวการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมอยู่แล้ว แต่ที่น่ากังวลมากกว่า คือการเอาคำว่าจริยธรรมมาใช้ควบคุมหรือแทรกแซงการทำงาน จนกระทบต่อเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารของสื่อฯ (ซึ่งย่อมกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของประชาชนไปด้วย) เสียมากกว่า
เหมือนอย่างร่างกฎหมาย ซึ่งที่ประชุม ครม.เพิ่งเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2565 ที่แม้จะมีชื่อสวยหรูว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. .…’ แต่กลับมีเนื้อหาหลายส่วนที่ชวนกังวลว่าจะใช้คำอ้างเรื่อง ‘มาตรฐานจริยธรรม’ มาควบคุมการทำงานของสื่อฯ ผ่านเนื้อหาร่างกฎหมายที่เปิดช่องให้ตีความไปในทางจำกัดสิทธิเสรีภาพ และผ่านการให้เงินทุนองค์กรที่จัดตั้งใหม่ชื่อ ‘สภาวิชาชีพสื่อมวลชน’ ปีละไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท โดยภาครัฐ
สื่อมวลชน นักวิชาการ และประชาชนจำนวนหนึ่งจึงริเริ่มกันลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและรอบด้าน จากผู้ปฏิบัติงานสื่อฯ ทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ และจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ว่าจำเป็นต้องมีร่างกฎหมายนี้ออกมาหรือไม่ และมีข้อกังวลใดๆ กันอยู่บ้าง
ในจดหมายเปิดผนึกยังแสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรมสื่อฯ ในเบื้องต้นไว้ 3 เรื่อง ดังนี้
- การกำหนดว่าสื่อฯ มีเสรีภาพในการทำงาน เท่าที่ไม่ขัดกับ ‘หน้าที่ปวงชนชาวไทย’ และ ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ ซึ่งที่ผ่านมา ทั้ง 2 คำนี้มักถูกภาครัฐใช้ตีความไปในทางจำกัดเสรีภาพของฝ่ายต่างๆ มาตลอด
- ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนอาจถูกแทรกแซงได้ ผ่านแหล่งเงินทุนที่จะได้รับจากภาครัฐอย่างน้อยปีละ 25 ล้านบาท
- กลไกการกำกับดูแลสื่อมวลชนภายใต้ร่างกฎหมายนี้ ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมจากบุคคลฝ่ายต่างๆ เพราะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 11 คน ส่วนใหญ่มาจากการสรรหาโดยกลุ่มบุคคลในวงแคบ และเมื่อได้รับการคัดเลือกแล้ว ก็ไม่มีช่องทางใดๆ ให้ตรวจสอบการทำงานของบุคคลกลุ่มนี้ ทั้งที่มีวาระ 4 ปี เป็นติดต่อกันได้ 2 สมัย รวม 8 ปี
ทั้งนี้ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า นิยามของคำว่า ‘สื่อมวลชน’ ที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีออกมากำกับดูแล ได้เขียนไว้อย่างกว้างขวางจนอาจหมายรวมถึงทั้งสื่อที่มีสังกัด สื่อพลเมือง แอดมินเพจ ยูทูปเบอร์ ติ๊กต๊อกเกอร์ อินสตาแกรมเมอร์ ฯลฯ กล่าวคือ “สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดทำสื่อหรือช่องทางดังกล่าวที่ดำเนินการเพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนโดยมิได้มุ่งแสวงหากำไร”
- หากเห็นด้วยกับการขอให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อฯ ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนและรอบด้าน สามารถเข้าไปร่วมลงชื่อได้ที่นี่
- ดูเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานจริยธรรมสื่อฯ ฉบับเต็ม ได้ที่: https://drive.google.com/file/d/1vjDJp8JqF6JtZObAae3ZojE8ul5i4jd_/view
#Brief #TheMATTER