อาชีพครูคือความฝันของผู้คนมากมาย การสอนหนังสือให้กับนักเรียน คือภาพในอุดมคติของใครหลายๆ คน แต่เมื่อ ‘ครู’ เข้าไปสู่ในระบบการศึกษา (ที่มระบบราชการครอบอีกขั้น) ความฝันเหล่านั้นก็เริ่มกลายเป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย
เมื่อเร็วๆ นี้เครือข่าย ครูขอสอน และ Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ได้เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นจากครูไทยกว่า 1,000 คน โดยให้พวกเขาได้ประเมินนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
สิ่งที่ค้นพบคือ ครูส่วนใหญ่ยกให้ ‘การประเมินวิทยฐานะ’ เป็นนโยบายที่ควรปรับปรุงมากที่สุด ถึงแม้จะเคยปรับเกณฑ์บางอย่างไปแล้ว แต่ผู้บริหารยังคงดูจากเอกสารเป็นหลัก อันดับต่อมาคือ นโยบายที่สั่งสำรวจข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และอันดับที่สามคือ การประเมินการประกวด รวมถึงโครงการโรงเรียนต่างๆ ที่มีจำนวนมากมาย ซึ่งครูมองว่าไม่ตอบโจทย์ครูและผู้เรียนอย่างแท้จริง
ผลสำรวจนี้พบ สิ่งที่ครูไทยอยากได้จากกระทรวงศึกษาธิการมากที่สุดคือ
-การลดภาระงานครูที่นอกเหนือการสอนและดูแลช่วยเหลือนักเรียน
-การลดงานเอกสาร การประเมิน การสำรวจที่ซ้ำซ้อน ที่ไม่สะท้อนความจริง มีจำนวนมากเกินความจำเป็น
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ครูไทยอยากได้คือ การที่รัฐและกระทรวงศึกษาธิการยอมรับฟังความเห็นจริงครู และไม่ปล่อยให้โรงเรียนทำให้ครูเผชิญปัญหาต่างๆ โดยลำพัง รวมถึงลดการสั่งการ เพิ่มการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจให้กับครูด้วย
ปัญหาเรื่องภาระงานที่มหาศาลเกินจำเป็น คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครูหมดไฟและอยากลาออก ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2564 เคยมีแคมเปญ #ทำไมครูไทยอยากลาออก ซึ่งสื่อสารถึงปัญหาต่างๆ ที่ครูต้องเผชิญอยู่ทุกวัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับครูในระบบราชการไทยนั้น ไม่ได้มีแต่สอนหนังสือ แต่ต้องจัดการภาระงานอื่นๆ เช่น งานเอกสาร ทำแบบประเมิน เข้าเวร ทำธุรการ จัดกิจกรรม หรือบางทีอาจไม่ได้สอนแค่วิชาเดียวเท่านั้น สารพัดงานที่ไม่ใช่งานสอน จนครูไม่มีเวลาเตรียมและออกแบบการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียน
พูดอีกแบบหนึ่งได้ว่า ระบบราชการได้ดึงครูไทยออกมาจากห้องเรียนและนักเรียน
อีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อครูไทยคือระบบที่ผู้บริหารโรงเรียน มักไม่เปิดอิสระให้ครูออกแบบการเรียนการสอนได้ตามที่ต้องการมากนัก รวมถึงการผลักความรับผิดชอบต่างๆ ไปให้กับครูมากเกินไป จนทำให้ครูต้องเสียสละทั้งทรัพยากร เงิน เวลาในการใช้ชีวิตส่วนตัวมาแก้ปัญหาด้วยตัวเองเองเกือบทั้งหมด
“โครงสร้างที่เป็นอยู่แบบนี้ มันทำให้ความคิด ความหวัง หรือจินตนาการของคนเรามันถูกบีบให้เล็กลง เพราะสุดท้ายเราถูกกฎระเบียบบางอย่างมาจำกัด เพราะฉะนั้น ครูที่อยากจะเปลี่ยนแปลง พออยู่ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ เขาก็ต้องการแก้ไข แต่ถ้าครูคนนั้นไม่มีคนที่คุยเรื่องนี้กันได้ในโรงเรียน ก็จะยิ่งดิ่งลงไปเลย หรืออาจถูกกลืนกินไป” อรรถพล ประภาสโนบล จากเพจ ‘พลเรียน’ เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER
ปัญหาภาระงานครูที่มหาศาล ไม่สอดคล้องกับค่าตอบแทน และการเสียสุขภาพจิตให้กับระบบที่คลั่งเอกสาร การประเมินมากเกินไป เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำร้ายแค่ครู แต่ยังรวมไปถึง คุณภาพของระบบการศึกษา และการศึกษาที่ผู้เรียนควรได้รับในโรงเรียนด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/InskruThailand/posts/4737308303051337
https://www.thairath.co.th/news/society/2242022
https://thematter.co/social/burden-on-teachers/87255
https://thematter.co/…/why-thai-teachers-wanna-quit/160415
#Brief #educations #การศึกษา #TheMATTER