สัญญาณของมหาสมุทรอีกแห่งในห้วงอวกาศ นักวิจัยค้นพบหลักฐานว่าอาจมีมหาสมุทรซุกซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวของ ‘Mimas’ พระจันทร์ของดาวเสาร์
Alyssa Rhoden นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของสถาบันวิจัยตะวันตกเฉียงใต้ (SwRI), Matthew Walker นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ สหรัฐฯ และทีมคนอื่นๆ ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Icarus ซึ่งระบุว่า Mimas ดาวบริวารของดาวเสาร์ที่ค้นพบในปี 1789 ที่มีลักษณะเป็นหลุมอุกกาบาต อาจมีมหาสมุทรซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง
ทีมวิจัยอ้างอิงข้อมูลจากยานอวกาศ Cassini ของ NASA ระหว่างปี ค.ศ.1997-2017 ที่แสดงให้เห็นการ ‘สั่นไหว’ ของวงโคจร Mimas ซึ่งทีมวิจัยวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นผลมาจากการคงอยู่ของมหาสมุทรใต้พื้นผิว ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงโน้มถ่วงกับดาวเสาร์สามารถผลิตความร้อนภายในได้มากพอจะรักษาของเหลวในมหาสมุทรใต้พื้นผิว แต่ความร้อนนั้นไม่สูงพอจะละลายเปลือกน้ำแข็งหนาๆ ที่คาดว่าจะมีขนาดประมาณ 14-20 ไมล์ ตามข้อมูลจากแบบจำลองที่สร้างขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อมูลปัจจุบัน จะชี้ไปในทิศทางนั้น แต่ทีมวิจัยเองก็คิดว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่สรุปว่ามีมหาสมุทรอยู่ใต้พื้นผิวของดวงจันทร์จริง แต่ก็น่าเสียดายเกินไปหากไม่มีการศึกษาหรือตรวจสอบเพิ่มเติม
Rhoden กล่าวว่า การศึกษา Mimas อย่างใกล้ชิดจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการมีอยู่ของมหาสมุทรใต้ดวงจันทร์มากขึ้น เพราะมันอาจนำไปสู่การค้นพบสัญญาณของสิ่งมีชีวิต
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ของโลกค้นพบสัญญาณการมีอยู่ของมหาสมุทรใต้ผิวดวงดาว (IWOWs) ก่อนหน้านี้โลกเคยค้นพบ IWOWs มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Enceladus ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ ดวงจันทร์ Europa, Callisto และ Ganymede บริวารของดาวพฤหัสบดี และอีกมากมาย แต่ทุกการค้นพบนั้นยังคงสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้เสมอ
อ้างอิงจาก
https://www.theverge.com/2022/1/20/22893041/saturn-death-star-underground-ocean-nasa-moon
#Brief #TheMATTER