แม้จะได้เข้าสู่วาระประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หลังรอคอยมาแสนนาน สำหรับ ‘ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. ….’ หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ซึ่งนำเสนอโดยเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กับคณะ แต่ท้ายที่สุดก็ไปไม่ถึงฝัน เมื่อสภาล่ม องค์ประชุมไม่ครบ จนไม่สามารถจนไม่สามารถลงมติได้
ถึงสภาฯ จะยังไม่ลงมติ แต่ The MATTER เห็นว่า ร่างกฎหมายนี้มีอะไรน่าสนใจ จึงอยากสรุปให้ทุกคนได้อ่านกันว่า มีสาระสำคัญอะไรบ้าง
ความจริงแล้ว ร่างกฎหมายนี้มีเนื้อหาสั้นมาก เพียง 7 มาตราเท่านั้น โดยสาระสำคัญอยู่ที่การแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 มาตรา 153 เดิม ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- เปลี่ยนเนื้อหาจาก “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสุราสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง…” เป็น “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุรา ‘เพื่อการค้า’ หรือมีเครื่องกลั่นสุราสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง…” เพิ่มคำว่าการค้าลงในเนื้อหา เพื่อให้ขอบเขตการอนุญาตผลิตสุรากว้างขึ้น
- เพิ่มบทห้ามกำหนดเกณฑ์ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการผลิตสุขาของผู้ประกอบการรายย่อย เช่น จำนวนคนงาน เงินทุน หรือกำลังผลิต เพื่อให้ผู้ผลิตตัวเล็กที่มีเงินทุนไม่มากสามารถผลิตสุราเพื่อจำหน่ายได้
- อนุญาตให้ผลิตสุราบริโภคเองในครัวเรือน
เท่าพิภพเคยบอกว่า เหตุที่ต้องเสนอร่างกฎหมายนี้ เนื่องจากกฎหมายเดิม มีการกำหนดขั้นต่ำทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยหลายคนไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ เช่น สุราขาว ต้องผลิตจากโรงอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมต่ำกว่า 5 แรงม้าหรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือหากจะผลิตเบียร์ ต้องจัดตั้งบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตร ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สูงเกินกว่าคนธรรมดาจะปฏิบัติตามได้
หลังจากรู้รายละเอียดร่างแก้ไขกฎหมายไปคร่าวๆ แล้ว คำถามต่อมาคือ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้านี้มีโอกาสจะเป็นเป็นได้มากน้อยแค่ไหน?
การจะเดินทางไปให้ถึงปลายทางฝันนั้น ขั้นแรก สภาฯ จะต้องเห็นชอบให้ ครม.นำร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตนี้กลับไปพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 118 ซึ่งแค่ขั้นแรกก็ไม่ผ่านแล้ว เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถลงมติได้
หรือหากมติที่ประชุมสภาอนุมัติให้ ครม.นำร่างกลับไปพิจารณา ก็ต้องใช้เวลาอีกอย่างมากสุด 60 วัน ก็เท่ากับยื้อเวลาออกไป และอาจทำให้ พ.ร.บ.ร่างนี้ถูกปัดตกในท้ายที่สุด เพราะมีความเป็นไปได้ที่ระยะเวลาเกือบ 2 เดือนนี้ จะมีการพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ กันภายใน ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องติดตามกันต่อว่าว่าเส้นทางผลิตสุราเสรีในไทยจะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป
เท่าพิภพกล่าวในที่ประชุมสภาฯ วันที่ 2 ก.พ.2565 ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาการผูกขาดของสังคมไทย และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสมาแข่งขันในตลาด ขณะที่เหล่าเกษตรกรที่มีวัตถุดิบอยู่ในมือเอง ก็สามารถนำพืชผลเหล่านี้มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าทางการค้า ถือเป็นการยกระดับสินค้าการเกษตรไปในตัว
ไม่เพียงแต่ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจเท่านั้น การเปิดเสรีผลิตเหล้าเบียร์ยังส่งเสริมการท่องเที่ยว ชาวบ้านสามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการผลิตเหล้าเบียร์มาเป็นจุดขายให้กับบ้านเกิด พร้อมยกตัวอย่างถึงประเพณีพื้นบ้านต่างๆ ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบสำคัญ หรือการสร้างถนนสายคราฟต์เบียร์เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งทุกอย่างนี้จะสร้างมูลค่าให้กับประเทศอย่างมหาศาลทั้งในแง่ของเม็ดเงิน และคุณค่าทางสังคม
“คนทำเหล้า ไม่ได้ประโยชน์แค่เจ้าของโรงเหล้า 2-3 คน แต่มันคือเกษตรกรที่ปลูกวัตถุดิบ คนขนส่ง คนขับรถ ไปจนถึงผู้ค้าปลีกค้าส่ง พนักงานหน้าบาร์ที่จะมีงานเพิ่มขึ้นมาจาก Supply Chain ของการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เท่าพิภพกล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.excise.go.th/…/mziw/~edisp/uatucm320149.pdf
https://www.excise.go.th/…/mzg5/~edisp/uatucm389433.pdf
https://www.bangkokbiznews.com/politics/986173
https://www.matichon.co.th/politics/news_2207915
https://mgronline.com/politics/detail/9650000011110
https://www.youtube.com/watch?v=nMg6izBiAaw