ยังไม่ได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนีดังที่ใฝ่ฝัน แม้จะยื่นเอกสาร และเสนอผู้กำกับดูแลตามที่ศาลต้องการ สำหรับ ‘เดียร์—รวิสรา เอกสกุล’ ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 และ ม.116 จากการอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563
จนถึงวันนี้ แม้จะได้รับทุน DAAD ของรัฐบาลเยอรมนี แต่ศาลก็ยังไม่อนุญาตให้เดียร์เดินทางออกนอกประเทศ โดยได้ยกคำร้องเป็นครั้งที่ 6 แล้ว เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา The MATTER ขอสรุปเส้นทางการต่อสู้ทางการเมืองของเดียร์ และการยื่นคำร้องต่อศาลทั้ง 6 ครั้ง มาไว้ในโพสต์นี้
1.
ก่อนหน้าที่จะได้รับทุนไปเรียนต่อ เดียร์ ซึ่งปัจจุบันอายุ 26 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แผนกภาษา–เยอรมัน หลังจากเรียนจบ ก็ได้ทำอาชีพเกี่ยวกับการแปล รวมถึงเป็นติวเตอร์ภาษาเยอรมันด้วย
2.
ตั้งแต่ปี 2563 เดียร์ได้มีโอกาสเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาโดยตลอด เดียร์เคยบอกกับ The MATTER ว่า หลังจากที่เข้ามาอยู่ในสังคมการทำงาน เธอก็เริ่มเห็นสิทธิพิเศษและความเหลื่อมล้ำที่แพร่หลายอยู่ในสังคม
“เราก็เลยตั้งคำถาม ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองมากขึ้น แล้วปีที่แล้วพอมีกระแสม็อบออกมา เราก็เลยเห็นด้วยกับสิ่งที่ม็อบเรียกร้อง เราก็เลยเป็นคนที่ออกไปแสดงความเห็น” เธอเล่า
3.
แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เดียร์เริ่มเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น ก็คือเหตุการณ์ #ม็อบ26ตุลา ปี 2563 เมื่อเธอได้มีโอกาสเป็น 1 ใน 5 คนที่ขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันที่หน้าสถานทูตเยอรมนี
แถลงการณ์ในภาษาเยอรมันมีเนื้อหาเดียวกับฉบับภาษาไทย โดยเป็นการทวงถามถึงผลการยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลลาออกในการชุมนุมเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 รวมถึงขอให้เยอรมนีตรวจสอบการใช้พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
เธอเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า “ไม่ได้คาดคิดว่าจะขึ้นไปทำอะไร แล้วอยู่ๆ ก็มีเพื่อนทักมาว่า มีคนตามหาคนอ่านแถลงภาษาเยอรมัน สนใจหรือเปล่าเพราะทุกคนรู้ว่าเราได้ภาษาเยอรมัน เราก็เลยติดต่อคนที่ประสานงานไป แล้วก็ได้ขึ้นไปอ่าน”
4.
นั่นถือเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของเดียร์ เพราะทำให้เธอถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์) และมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) พร้อมกับ ฟ้า—สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ, ครูใหญ่—อรรถพล บัวพัฒน์ และณัชชิมา อารยะตระกูลลิขิต เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563
5.
ต่อมา วันที่ 22 ก.ค. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้ยื่นฟ้องจำเลยรวม 12 คน โดยมีเดียร์เป็นจำเลยที่ 11 จากกรณีของเหตุการณ์ #ม็อบ26ตุลา
คำบรรยายของพนักงานอัยการอ้างว่า แถลงการณ์ในวันนั้นทำให้ผู้รับสารเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ใช้พระราชอำนาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครอง และใช้พระราชอำนาจในประเทศเยอรมนีโดยมิชอบ ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศ
นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังระบุว่า เป็นการกระทำยุยงปลุกปั่นสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนอีกด้วย
6.
ในวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 12 คน โดยมีวงเงินประกันคนละ 2 แสนบาท และใช้ตำแหน่งนักวิชาการ และ ส.ส. เพื่อประกัน
พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไข คือ ห้ามกระทำผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีก ให้มาตามนัดของศาลทุกนัด และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากศาล และมีหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
เงื่อนไขหลังสุดนี้ คือสิ่งที่จะกลายมาเป็นที่มาที่ไปของมหากาพย์การยื่นคำร้องออกนอกประเทศของเดียร์รวมทั้งหมด 6 ครั้ง
7.
ผ่านมาจนกระทั่งเมื่อช่วงต้นปีนี้ เดียร์เปิดเผยว่าได้รับทุนของ DAAD หรือ German Academic Exchange Service องค์กรด้านการสนับสนุนทุนการศึกษาของรัฐบาลเยอรมนี เพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา ‘การจัดการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร’ ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรึค (University of Applied Science Osnabrück) ประเทศเยอรมนี
ในโอกาสนี้ เกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ยังได้ลงนามในหนังสือแสดงความยินดีกับเดียร์ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า
“นี่คือความสำเร็จที่ต้องภาคภูมิใจ – มีเพียงนักศึกษาที่มีผลงานดีเยี่ยมและมีแนวโน้มประสบความสำเร็จเท่านั้นที่มีสิทธิจะได้รับทุนระยะยาว ผมเชื่อว่าการไปเรียนต่อในเยอรมนีจะมีประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะกับตัวคุณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศชาติของคุณ เมื่อคุณใช้ความรู้และความสามารถที่ได้มาให้เป็นประโยชน์กับอาชีพการงานในอนาคตของคุณด้วย”
8.
เพื่อให้ได้รับอนุญาตเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปเรียนต่อ เดียร์ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565
แต่ศาลก็ได้มีคำสั่งว่า “เงื่อนไขการห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี การที่จำเลยขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยอ้างว่าได้รับทุนในการศึกษาต่อ แต่เป็นการขอเดินทางในระยะที่ยาวนาน และกระทบกับวันนัดสืบพยานของศาลที่นัดไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงเห็นควรไม่อนุญาต”
9.
เดียร์จึงได้เข้ายื่นคำร้องอีกครั้ง เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 โดยเสนอหลักประกันแก่ศาลว่า ตั้งใจจะเข้าร่วมการพิจารณาคดีของศาล และขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศถึงวันที่ 15 ก.พ. 2566 เท่านั้น และยินดีจะไปรายงานตัวต่อศาล ณ สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยในเยอรมนีทุกๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์จากจุฬาฯ ซึ่งเป็นนายประกัน และบิดา เป็นผู้กำกับดูแลตามเงื่อนไข
แต่วันต่อมา ศาลก็มีคำสั่งไม่อนุญาตอีกครั้ง โดยระบุว่า ผู้กำกับดูแลอยู่ที่ไทย แต่จำเลยอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการยากที่จะกำกับดูแลตามเงื่อนไขได้ และไม่หนักแน่นพอที่จะแสดงว่าจำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด รวมถึงเกรงว่าจะหลบหนี จึงสั่งให้ยกคำร้อง
ในการยื่นคำร้องครั้งนี้ เดียร์ได้เปิดใจบนเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกด้วยว่า “จริงๆ เงื่อนไขทั้งหมดที่เรายื่นให้ศาลไป เรารู้อยู่ก่อนอยู่แล้ว แต่พอมาอ่านจริงๆ อีกทีมันก็อดหดหู่ใจจนร้องไห้ไม่ได้จริงๆ” และ “สุดท้ายแล้ว เราก็ต้อง “ยินดี” รับทุกเงื่อนไข ไม่ว่าศาลจะให้เงื่อนไขอะไรมา ถึงแม้มันจะขัดใจ ขัดต่ออุดมการณ์ ขัดต่อความเชื่อ ความตั้งใจ แต่เราก็ต้องยินดีรับมัน เพียงเพราะศาลไม่เชื่อว่าเราจะไม่หนี” พร้อมย้ำว่าตัวเองไม่ได้จะหนี และไม่ใช่อาชญากร
10.
ต่อมา วันที่ 10 มี.ค. 2565 เดียร์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นครั้งที่ 3 เป็นการยื่นเอกสารเพื่อยืนยันว่าได้รับทุนการศึกษาจริง โดยได้แนบจดหมายและเอกสารการมอบทุน และจดหมายของเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย
แต่ศาลก็ต้องการให้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมที่เป็นการรับรองจากมหาวิทยาลัยว่าได้รับทุนจริง และเอกสารคำรับรองให้ความยินยอมจากผู้ที่จะกำหนดให้เป็นผู้กำกับดูแล เดียร์จึงขอคืนคำร้องเพื่อจัดหาเอกสารตามที่ศาลต้องการ
11.
วันที่ 15 มี.ค. เดียร์จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลเป็นครั้งที่ 4 พร้อมเอกสารเพิ่มเติมคือ หนังสือรับรองจากมหาวิทยาลัย จดหมายและเอกสารการมอบตัว จดหมายของเอกอัครราชทูตเยอรมนีฯ จดหมายรับรองจากสถาบันภาษาที่เธอต้องเข้าเรียนหลักสูตรเตรียมความพร้อมทางภาษาในช่วงสั้นๆ รวมถึงเอกสารหนังสือเดินทางและวีซ่า เพื่อยืนยันว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยก่อนช่วงการเริ่มพิจารณาคดี
นอกจากนี้ เดียร์ยังขอให้ศาลแต่งตั้งบุคคลที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี เพื่อมาเป็นผู้กำกับดูแล ช่วยเหลือศาลในการติดตามก่อนที่จะเริ่มพิจารณาคดี พร้อมทั้งได้ยื่นเอกสารคำยินยอมจากบุคคลดังกล่าวด้วย
แต่ในครั้งนี้ ศาลยังไม่มีคำสั่งว่าอนุญาตหรือไม่ โดยระบุว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทางมหาวิทยาลัยรับทราบถึงกำหนดการณ์พิจารณาคดีของศาลแล้วหรือยัง จึงได้สั่งให้เดียร์นำหนังสือของมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้พักการศึกษาไว้ชั่วคราวในระหว่างที่กลับมาเข้าร่วมการพิจารณาคดีที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2 มี.ค.-23 มี.ค. 2566 มายื่นต่อศาล แล้วจึงจะพิจารณาคำร้องต่อไป
12.
วันที่ 21 มี.ค. 2565 เดียร์จึงได้เข้ายื่นคำร้องเป็นครั้งที่ 5 เพื่อยื่นเอกสารจากทางมหาวิทยาลัยที่ระบุว่ารับทราบถึงการดำเนินคดี ม.112 และเสนอให้ศาลตั้งนักวิจัยไทยท่านหนึ่งที่พำนักอยู่ในประเทศเยอรมนี เพื่อเป็นผู้กำกับดูแล โดยมีหนังสือยินยอมของนักวิจัยคนดังกล่าวยื่นมาด้วย
ทั้งนี้ ข้อความตอนหนึ่งของหนังสือจากทางมหาวิทยาลัยระบุว่า “สำหรับมหาวิทยาลัยและโปรแกรมปริญญาโท ไม่มีข้อขัดข้องหรือปัญหาใดๆ หากคุณรวิสรา เอกสกุลต้องไปประเทศไทยในช่วงระยะเวลาหนึ่งขณะกำลังศึกษา” พร้อมเน้นย้ำว่า “เรามีความสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คุณรวิสรา เอกสกุล เป็นหนึ่งในนักศึกษาของเรา เนื่องด้วยคุณค่าทางวิชาการของคุณรวิสราเหมาะสมกับหลักสูตรมหาบัณฑิตอย่างดียิ่ง”
แต่ในช่วงเย็นวันนั้น ศาลก็มีคำสั่งระบุว่า เอกสารของมหาวิทยาลัยที่ยื่นมา ไม่ปรากฏว่าผ่านการรับรองจากสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย จึงให้ไปดำเนินการในส่วนนี้ พร้อมทั้งสั่งให้เสนอชื่อผู้กำกับดูแลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและเยอรมนีมาให้พิจารณาเพิ่มเติม
13.
จนกระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 ศาลนัดไต่สวนคำร้องเป็นครั้งที่ 6 โดยได้มีการไต่สวนพยาน 3 ปาก คือ เดียร์ในฐานะผู้ร้อง นายประกันที่เป็นอาจารย์จากจุฬาฯ และธนชาติ เอกสกุล บิดาของเดียร์
อย่างไรก็ดี ศาลก็ได้มีคำสั่งว่า ในส่วนของผู้กำกับดูแล ยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามระเบียบของศาลยุติธรรม โดยระบุว่า ผู้ที่ประสงค์ให้เป็นผู้กำกับดูแลในเยอรมนี น่าเชื่อว่าไม่ได้รู้จักกับเดียร์เป็นอย่างดีทั้ง 2 ฝ่าย จึงขัดกับระเบียบที่กำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่รู้จักผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวเป็นอย่างดี ส่วนผู้กำกับดูแลฝ่ายไทย เดียร์เสนอให้อาจารย์จากจุฬาฯ ทำหน้าที่ แต่ศาลเห็นว่าขัดกับระเบียบ เนื่องจากรับเป็นผู้ประกันไปแล้ว จึงสั่งให้ยกคำร้อง
14.
ท้ายที่สุด จนถึงวันนี้ เดียร์ก็ยังไม่ได้เดินทางจากประเทศไทย แม้จะมีกำหนดการณ์ต้องไปศึกษาในหลักสูตรเตรียมความพร้อมที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2565 ก็ตาม
ภายหลังจากศาลยกคำร้องเป็นครั้งที่ 6 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้แสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊กว่า “สงสารเด็กที่โอกาสซึ่งยากจะได้รับกำลังจะหลุดลอยไป ถึงจะไม่ทราบรายละเอียดหลักสูตรหรือหลักการของทุนนี้ แต่นึกภาพแม่ดีใจตอนผมได้ไปแข่งโต้คารมมัธยมศึกษา แล้วน้ำตาคลอเมื่อรู้ว่าชนะโรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพฯ กลับมา ผมว่าหัวอกคนเป็นพ่อแม่ของ ‘เดียร์’ กับโอกาสของลูกคงไม่ต่างกัน
“กรณีของ ‘เดียร์’ ถ้ามีแนวพิจารณาที่รักษาโอกาสเรียนต่อของเด็ก เช่น กำหนดพื้นที่กำหนดเวลาการใช้ชีวิต รายงานตัวออนไลน์ หรืออื่นๆ เชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะยอมรับได้ ผู้พิพากษาลูกชาวบ้านหลานชาวนาก็มีมาก คำว่าโอกาสมีคุณค่าสำหรับชีวิตอย่างไรท่านย่อมทราบ”
15.
หลังจากนี้ เราคงต้องจับตาดูต่อไปว่า เมื่อไหร่ที่ศาลจะอนุญาตให้เดียร์เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปทำตามความฝัน
เป็นความฝันที่เดียร์ระบุไว้ในจดหมายยื่นขอทุนว่า การศึกษาในระดับ ป.โท ของเธอ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “สังคมที่ทุกคนมีชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน” ดังที่ปรากฏใน ‘ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน’ ว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ”
อ้างอิงจาก
TLHR (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7)