ในแคนาดา การจำคุกนักโทษตลอดชีวิต แม้แต่นักโทษคดีฆาตกรรม โดยไม่มีสิทธิได้รับการปล่อยตัวออกมาข้างนอกเลย ถือว่า ‘ป่าเถื่อน’ ละเมิด ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ กระทั่งผิดรัฐธรรมนูญ จากคำตัดสินล่าสุดของศาลสูงสุดแคนาดา
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 ศาลสูงสุดของแคนาดา (Supreme Court of Canada) มีมติเป็นเอกฉันท์ ตัดสินว่า กฎหมายอาญาที่อนุญาตให้ศาลสั่งจำคุกนักโทษคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน (First Degree Murder) ที่มีคดีหลายข้อหารวมกัน โดยไม่มีสิทธิยื่นขอปล่อยตัวด้วยการทำทัณฑ์บน หรือการพักโทษ ที่เรียกว่า ‘parole’ หลังจำคุกมาแล้ว 25 ปี ถือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ
ศาลสูงสุดชี้ว่า “โทษจำคุกตลอดชีวิต โดยไม่มีความเป็นไปได้ที่จะยื่นขอพักการลงโทษได้ในความเป็นจริง เท่ากับว่าผู้กระทำความผิดเกินเยียวยาและหมดหนทางบำบัดได้ นี่เป็นลักษณะของการลดทอนคุณค่า และไม่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เทียบได้กับการลงโทษที่ป่าเถื่อนและผิดไปจากปกติ”
คำตัดสินนี้ถือเป็นที่จับตามองในแคนาดา เนื่องจากเป็นการตัดสินอิงกับคดีของ อเล็กซานเดร บิสโซเนทท์ (Alexandre Bissonnette) มือปืนที่บุกกราดยิงมัสยิดในเมืองควิเบกเมื่อปี 2560 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย แต่คำตัดสินดังกล่าวยังจะมีผลกับคดีของนักโทษอีกอย่างน้อย 18 คนที่ถูกจำคุกตลอดชีวิตจากการฆาตกรรมในหลายคดีรวมกันด้วย
แคนาดายกเลิกโทษประหารชีวิตไปตั้งแต่ปี 2510 หรือ 55 ปีที่แล้ว และก่อนหน้านี้ กฎหมายแคนาดาอนุญาตให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแต่สามารถยื่นขอพักโทษได้หลังติดคุกมาแล้ว 25 ปี
อย่างไรก็ดี กฎหมายที่ศาลสูงสุดพิจารณาล่าสุดนั้น ซึ่งมีการบังคับใช้เมื่อปี 2554 กำหนดให้ศาลสามารถลงโทษในคดีฆาตกรรมหลายคดีรวมกัน โดยให้นักโทษรับโทษติดต่อกัน ไม่จำเป็นต้องให้มีสิทธิยื่นขอพักโทษในปีที่ 25 ก็ได้ ทำให้นักโทษบางคนอาจต้องติดคุกตลอดชีวิตโดยไม่มีสิทธิได้ออกมาข้างนอกเลย นั่นจึงทำให้ศาลสูงสุดมองว่าละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในคำตัดสินล่าสุด
อ้างอิงจาก
https://www.washingtonpost.com/world/2022/05/27/canada-supreme-court-life-without-parole-bissonnette
https://www.scc-csc.ca/case-dossier/cb/2022/39544-eng.aspx