แก้วพลาสติก กล่องอาหารจากร้านตามสั่ง ถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ มองไปทางไหนก็เห็นแต่พลาสติก เราใช้พลาสติกในแทบทุกวัน และปัญหามลพิษจากพลาสติกก็กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น
นำมาสู่การพยายามหาวิธีรีไซเคิลพลาสติกโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ จนล่าสุด กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์เพิ่งค้นพบว่า ‘ซูเปอร์วอร์ม’ หรือชื่อของหนอนตัวอ่อนด้วง Zophobas (ชื่อวิทยาศาสตร์: Zophobas morio) สามารถดำรงชีวิตได้ด้วยการกินพลาสติกโพลีสไตรีน (Polystyrene) เป็นอาหาร เพราะจุลินทรีย์ในลำไส้ของหนอนสามารถย่อยสลายมันได้
พลาสติกโพลีสไตรีน เป็นพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและพบได้ตามสิ่งของในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น โฟม ภาชนะ ช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นต้น
ในการทดลอง นักวิทยาศาสตร์แบ่งหนอนตัวอ่อนชนิดนี้ 171 ตัวออกเป็น 3 กลุ่ม ก่อนจะกำหนดให้แต่ละกลุ่มกินอาหารที่แตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มแรกให้กินพลาสติกโพลีสไตรีน กลุ่มต่อมาให้กินรำข้าว และกลุ่มสุดท้ายไม่ให้กินอะไรเลย โดยปล่อยให้พวกมันใช้ชีวิต 3 สัปดาห์
พอเวลาครบกำหนด ก็พบว่ากลุ่มที่กินรำข้าวมีน้ำหนักมากที่สุด แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ กลุ่มที่กินพลาสติกโพลีสไตรีน เป็นกลุ่มที่ก็มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเหมือนกัน และนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าพวกมันมีกิจกรรมระหว่างกันมากกว่ากลุ่มที่ต้องอดอาหาร จึงสรุปกันว่า หนอนตัวอ่อนชนิดนี้สามารถรับสารอาหารได้จากขยะพลาสติก
อย่างไรก็ดี การกินพลาสติกเข้าไปก็ไม่ได้ดีต่อสุขภาพของพวกมัน เพราะหนอนกลุ่มที่ติดพลาสติกจะมีน้ำหนักน้อยกว่าและมีสุขภาพลำไส้ที่แย่กว่า หากเทียบกับกลุ่มที่กินรำข้าว
จุลินทรีย์ในลำไส้ของพวกมันที่ย่อยพลาสติกได้ อาจนำมาสู่การพัฒนาและเลียนแบบเทคโนโลยีนี้โดยนักวิทยาศาสตร์ และนำมาสู่ทางเลือกใหม่ในการจัดการขยะพลาสติกต่อไปได้
งานวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์บนวารสารวิทยาศาสตร์ Microbial Genomics เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผ่าน โดยคณะผู้วัจเยสนอว่า ผลการศึกษาอาจเป็นพื้นฐานด้านการศึกษาการใช้จุลินทรีย์ในการจัดการขยะพลาสติกต่อไปในอนาคต
อ้างอิงจาก