เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในวงการกีฬาที่มีการถกเถียงกันมาสักพักใหญ่ๆ เมื่อเริ่มมีนักกีฬาข้ามเพศลงแข่งในรายการว่ายน้ำบ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะที่จับตามอง คือ กรณีของ ลีอา โทมัส นักกีฬาหญิงข้ามเพศจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (19 มิ.ย. 2565) สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ หรือฟีน่า (FINA) ได้มีมติเสียงส่วนใหญ่ 71% จากสมาชิกทั้งหมด 152 ประเทศ ในที่ประชุมระหว่างการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังกรี ห้ามนักกีฬาข้ามเพศลงแข่งขันในรายการหญิงระดับสูง ถ้านักกีฬาคนดังกล่าวเคยผ่านกระบวนการเติบโตเป็นผู้ชายมาก่อนแล้ว
กฎที่เพิ่งผ่านการลงมติระบุว่า นักกีฬาหญิงข้ามเพศ (ชายเป็นหญิง) ยังมีสิทธิลงแข่งขันในรายการของ FINA ได้อยู่ ถ้าพิสูจน์ตามที่ FINA ต้องการได้ว่า ไม่เคยมีพัฒนาการเติบโตเป็นผู้ชายมากกว่าระดับ Tanner Stage 2 (ซึ่งจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ) หรือไม่เคยมีพัฒนาการเติบโตก่อนอายุ 12 ปี ขึ้นอยู่กับว่าอย่างไหนมาก่อน
ทั้งนี้ FINA ก็ระบุว่า จะเตรียมเปิดประเภทการแข่งขันใหม่โดยเฉพาะ สำหรับนักกีฬาว่ายน้ำที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าจะส่งผลกระทบกับเส้นทางนักกีฬามืออาชีพของนักว่ายน้ำอย่าง ลีอา โทมัส โดยตรง ซึ่งเป็นที่จับตาหลังชนะการแข่งขันฟรีสไตล์หญิงหญิง 500 หลา ในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา และเคยเปิดเผยว่าอยากจะลงแข่งในกีฬาโอลิมปิกต่อไปด้วย
ด้าน ฮูเซน อัล–มูซัลลาม ประธาน FINA ก็ได้แถลงว่า “เราต้องปกป้องสิทธิในการแข่งขันของนักกีฬา แต่เราก็ต้องปกป้องความเป็นธรรมในการแข่งขันในรายการของเราด้วย โดยเฉพาะประเภทการแข่งขันหญิงของ FINA”
ในส่วนของการเปิดประเภทใหม่ อัล–มูซัลลาม ก็ระบุว่า “FINA ยินดีต้อนรับนักกีฬาทุกคนเสมอ การสร้างประเภทแบบเปิดขึ้นใหม่จะหมายความว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะแข่งขันในรายการระดับสูง
“สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้น FINA จะต้องเป็นคนนำทาง ผมอยากจะให้นักกีฬาทุกคนรู้สกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาไอเดียระหว่างกระบวนการนี้”
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/sport/swimming/61853450