ในบางพื้นที่ การ ‘ขายไต’ แลกเงินอาจไม่ใช่แค่มุกตลก เช่น ในประเทศเคนยา ล่าสุด โรงพยาบาลที่เก่าแก่ที่สุดในเคนยาเพิ่งประกาศผ่านเฟซบุ๊กเตือนให้หยุดพยายามขายไต หลังมีคนจำนวนมากส่งข้อความมาถามผ่านเฟซบุ๊กของ ร.พ. ว่า ‘ไตจะขายได้ในราคากี่บาท?’
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมา โรงพยาบาล Kenyatta National Hospital โพสต์เตือนให้ประชาชนทราบว่า การขายอวัยวะคือเรื่องต้องห้ามและผิดกฎหมาย และประชาชนจะสามารถบริจาคอวัยวะได้โดยสมัครใจเท่านั้น หลังได้รับคำถามถึงราคาไต ซึ่งเป็นคำถามที่ทาง ร.พ. พบบ่อยที่สุดในกล่องข้อความ
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่ตอนนี้ที่เคนยากำลังเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าต่างๆ พุ่งสูงขึ้น และยิ่งแย่ลงอีกหลังรัสเซียเริ่มรุกรานและประกาศสงครามกับยูเครน ทำให้ชาวเคนยาต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลักจากค่าอาหารและเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น
เมื่อเดือนที่แล้ว อูฮูรู เคนยาตา (Uhuru Kenyatta) ประธานาธิบดีเคนยา เพิ่งประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 12% เพื่อช่วยเหลือประชาชนเคนยา อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้จริง
ด้วยวิกฤตเงินเฟ้อที่เคนยากำลังเผชิญ ทำให้ประชาชนจำนวนมากวางแผนที่จะผลิตเงินจากการขายอวัยวะ และไตกลายเป็นอวัยวะที่ได้รับความนิยมที่สุด แต่จริงๆ แล้ว การซื้อขายอวัยวะถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในเคนยา และประเทศนี้อนุญาตให้บริจาคอวัยวะได้หากเสียชีวิตลงเท่านั้น โดยกฎหมายอนุญาตให้บุคคลสามารถระบุความตั้งใจที่จะบริจาคอวัยวะได้ หากวายชนม์
และผู้ที่ละเมิดกฎหมายดังกล่าว จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10 ล้านชิลลิงเคนยา (ราว 3 ล้านบาท) หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกฎหมายนี้มีที่มาจากการที่ UN แสดงความกังวลถึงอัตราการซื้อขายอวัยวะมนุษย์แบบผิดกฎหมายเพิ่มสูงขึ้น
แม้จะผิดกฎหมาย ตลาดมืดค้าอวัยวะและเนื้อเยื่อในเคนยาก็ยังคงอู้ฟู้ อันเชื่อมโยงกับอัตราความยากจนที่พุ่งสูง โดย Challyh News ซึ่งเป็นสำนักข่าวในเคนยา รายงานเมื่อ ต.ค. ปีที่แล้ว ว่า ราคาของไตในเคนยาอาจแตกต่างกันไปตามการเจรจาต่อรองซื้อขาย แต่ราคามาตรฐานในการขายไตหนึ่งชิ้นจะอยู่ที่ 3.5 ล้านชิลลิงเคนยา หรือประมาณ 1,050,000 บาท
อ้างอิงจาก
https://www.vice.com/en/article/z34e85/kenyatta-national-hospital-kidney-kenya
https://challyhnews.co.ke/wp/2021/10/31/places-in-kenya-you-can-sell-kidney-for-sh-3-5-million/