ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้น ณ สัปปายะสภาสถาน ประชาชนเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสียงลงมติไว้วางใจ–ไม่ไว้วางใจรัฐบาล ผ่านโครงการ ‘เสียงประชาชน’ กิจกรรมลงมติคู่ขนานนอกสภาได้นะ
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยถึงโครงการ ‘เสียงประชาชน’ ที่ชวนประชาชนมาลงมติไว้วางใจ–ไม่ไว้วางใจรัฐบาลคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ดที่จะขึ้นหน้าจอของสื่อโทรทัศน์ที่เข้าร่วมโครงการ
โครงการนี้ริเริ่มโดยกลุ่มนักวิชาการจาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรมและสื่อทีวี 4 ช่อง คือ เนชั่น ไทยรัฐทีวี ข่าวเวิร์คพอยท์ และพีพีทีวี
ประชาชนสามารถลงมติไว้วางใจ–ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายคู่ขนานกับการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยสื่อทีวีที่เข้าร่วมโครงการจะนำคิวอาร์โค้ดขึ้นหน้าจอให้ประชาชนได้ร่วมลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้ใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 11 คนแยกเป็นรายบุคคลเช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร โดยมีกติกาในการลงมติ ดังนี้
1. มือถือหรือคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง จะลงมติได้เพียงแค่หนึ่งครั้ง
2. การลงมติจะเริ่มต้นในวันศุกร์ที่ 22 ก.ค. 65 (วันสุดท้ายของการอภิปราย) เวลา 18.00 น. และจะปิดการลงมติในวันต่อมา (23 ก.ค. 65) เวลาเดียวกับการปิดลงมติของสภาผู้แทนราษฎร
ผศ.ดร.ปริญญา ระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการดำเนินการให้ประชาชนลงมติไว้วางใจ–ไม่ไว้วางใจคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎรโดยใช้ช่องทางออนไลน์ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยสะดวก จัดการง่าย และทราบผลได้รวดเร็ว พร้อมเสนอว่าควรใช้ในการส่งเสริมเสียงประชาชนให้ดังย่ิงขึ้นในประเด็นสาธารณะอื่นๆ เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยทางตรง
อย่างไรก็ดี การลงมตินี้ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย แต่ ผศ.ดร.ปริญญา ชี้แจงว่ากิจกรรมนี้เป็นไปเพื่อแสดงเสียงประชาชนทุกฝ่าย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ
โดยสรุปก็คือ ใครที่ต้องการโหวต ให้แสกนคิวอาร์โค้ดที่สื่อทีวีจะขึ้นหน้าจอในวันที่ 22 ก.ค. 65 เวลา 18.00 น. และจะปิดการลงมติในวันที่ 23 ก.ค. 65 เวลาเดียวกับการปิดลงมติของสภาผู้แทนราษฎร (ประมาณ 11.00 น.) ก่อนจะรายงานผลให้ทราบถัดไป
อ้างอิงจาก