ตลอดทั้งปี 2564 มีสื่อมวลชนนับสิบรายได้รับผลกระทบจากการใช้กระสุนยางของตำรวจ โดนยิงเข้าใส่จนบาดเจ็บระหว่างไปทำข่าวการชุมนุมสาธารณะ ทั้งๆ ที่ใส่ปลอกแขนสีขาวแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน และทางสมาคมวิชาชีพสื่อไปคุยกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ตั้งแต่ต้นปีว่า จะใช้สัญลักษณ์นี้เพื่อแยกระหว่างผู้ชุมนุม-สื่อมวลชน
ในการชุมนุมวันที่ 18 ก.ค.2564 ก็เป็นอีกวันที่มีสื่อมวลชนหลายรายถูกยิงกระสุนยางเข้าใส่ ทั้งๆ ที่ใส่ปลอกแขนแสดงตัว อาทิ ผู้สื่อข่าว PLUS SEVEN, ช่างภาพ The MATTER และช่างภาพมติชนทีวี โดย 2 รายแรกได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต่อศาลแพ่ง ที่ศาลรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.3683/2564 พร้อมออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ตำรวจควบคุมการชุมนุมโดยระมัดระวังความปลอดภัยของสื่อ
ความคืบหน้าคดีนี้ ทางภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ในฐานะทีมทนายความให้กับสื่อมวลชนระบุว่า ศาลแพ่งนัดไต่สวนพยาน รวมทั้งสิ้น 22 ปาก ในปี 2566
- พยานฝ่ายโจทก์ 14 ปาก 3 นัด ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค.
- พยานฝ่ายจำเลย 8 ปาก 2 นัด ระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค.
หลังศาลแพ่งออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก็ทำให้การยิงกระสุนยางของตำรวจต่อสื่อมวลชนมีการระมัดระวังมากขึ้น ทีมโฆษก สตช.และผู้บริหาร บช.น.นัดพูดคุยกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อเพื่อหารือการทำข่าวระหว่างการชุมนุมสาธารณะ อย่างไรก็ตาม กลับมีการใช้วิธีอื่นๆ ในการสร้างอุปสรรคต่อการทำงานของสื่อ เช่น อ้างข้อตกลงบางอย่างที่ไม่มีอยู่จริง, อ้างเคอร์ฟิวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, อ้างว่าต้องมีบัตรกรมประชาสัมพันธ์ ฯลฯ ทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อต้องออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ตำรวจเคารพสิทธิเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน
ผู้สื่อข่าว The MATTER เคยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ยื่นขอตัวเลขกระสุนยาง แก๊สน้ำตา รวมถึงกำลังพลตำรวจที่ใช้ควบคุมการชุมนุมตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สั่งให้ บช.น.ต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวแก่ผู้ร้องขอแล้ว และเราได้ทำหนังสือไปขอรับข้อมูลดังกล่าวจาก บช.น.เรียบร้อยแล้ว หากได้รับมาจะนำมาเปิดเผยต่อไป
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://twitter.com/thematterco/status/1416730205473832960
https://thematter.co/brief/151329/151329
https://thematter.co/brief/176866/176866
https://tja.or.th/view/news/1337414
#Brief #TheMATTER