ไทยพบผู้ติดเชื้อโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย ‘BA.2.75’ แล้ว 1 ราย ที่ จ.ตรัง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกมารายงานถึงกรณีดังกล่าว เมื่อวานนี้ (19 ก.ค. 2565)
ศูนย์จีโนมฯ ระบุว่า ผู้ติดเชื้อรายดังกล่าวที่ จ.ตรัง ได้มีการเก็บตัวอย่างโดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ก่อนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จะถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมและ อัพโหลดขึ้นฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ ‘GISAID’ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565
จากการวิเคราะห์ข้อมูลจาก GISAID, Nextstrain และ covSPECTRUM กว่า 12 ล้านตัวอย่าง ก็พบว่า มีการกลายพันธุ์ไปจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิม ประมาณ 90 ตำแหน่ง
สำหรับสายพันธุ์ย่อย ‘BA.2.75’ ศูนย์จีโนมฯ เปิดเผยข้อมูลจากห้องปฏิบัติการว่า มีการกลายพันธุ์ไปถึง 100 ตำแหน่ง คาดว่าจะหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ก่อนได้ดี รวมถึงดื้อต่อวัคซีนที่เตรียมจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิม ควรเลือกใช้ยาแอนติบอดีสังเคราะห์ (monoclonal antibody) ให้สอดคล้องกับโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย
ทั้งนี้ BA.2.75 พบการระบาดครั้งแรกในอินเดียเมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2565 ขณะนี้แพร่ไปทั่วโลก พบตัวอย่างใน 10 รัฐของอินเดีย และอีก 14 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ศูนย์จีโนมฯ ชี้ว่า ในการระบาดที่อินเดีย พบข้อมูลจากสถานการณ์จริงว่า เป็นการระบาดที่ไม่ยาวนาน อาจสืบเนื่องจากการระบาดใหญ่ของ BA.2 มาก่อน ซึ่งทำให้เกิดภูมิคุ้มกันจนทำให้ไม่ระบาดขยายเป็นวงกว้าง ด้านกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ก็ชี้แจงว่า ไม่พบหลักฐานว่า BA.2.75 มีการติดเชื้อและมีอาการที่รุนแรง ต่างจากโอไมครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ระบาดมาก่อนหน้านี้
อ้างอิงจาก