“ราวกับเสาอารยธรรมเอเลี่ยนเลยล่ะ ถ้ามาดูใกล้ๆ” คือความเห็นของ แบรด ทัคเกอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)
“ผมรู้สึกเซอร์ไพรส์ทีเดียว มันไม่ใช่อะไรที่คุณจะเห็นได้ทุกวันในทุ่งเลี้ยงแกะ” มิก ไมเนอร์ส เกษตรกรวัย 48 ปี จากดาลเจตี เมืองชนบทเล็กๆ ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าว เขาเป็นผู้ค้นพบวัตถุชิ้นนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แรกเริ่มยังคิดแค่ว่าเป็นซากต้นไม้ไหม้ แต่พอเข้าไปดูใกล้ๆ กลับพบว่าไม่ใช่
ไมเนอร์ส่ายรูปส่งไปให้กับเพื่อนร่วมอาชีพ จ็อก วอลเลซ ซึ่งก็บังเอิญเจอวัตถุปริศนาคล้ายๆ กัน ในไร่ของเขาไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ทั้งสองจึงโทรหาทัคเกอร์เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบ ก่อนจะพบว่ามันคือ ‘ขยะอวกาศ’ – มาจากอวกาศก็จริง แต่ไม่ใช่อารยธรรมต่างถิ่น
องค์การอวกาศออสเตรเลีย (ASA) ยืนยันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 ส.ค. 2565) ว่า วัตถุดังกล่าวเป็นขยะอวกาศจริง โดยเป็นชิ้นส่วนที่มาจากยานอวกาศของ SpaceX ซึ่งถูกปล่อยไปเมื่อ 20 เดือนที่แล้ว หรือเมื่อเดือน พ.ย. 2563 และกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา
ด้าน NASA ก็ออกแถลงการณ์ระบุว่า SpaceX ยืนยันแล้วด้วยเช่นกันว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนจากยาน SpaceX Dragon ในภารกิจ Crew-1 ซึ่งเป็นชิ้นส่วนตัวถังที่ช่วยปล่อยกระแสไฟฟ้าให้กับส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นต้องใช้ไฟในระหว่างอยู่ในวงโคจร
สำหรับเหตุการณ์ในลักษณะที่มีขยะอวกาศตกบนบก ทัคเกอร์ชี้ว่า “เกิดขึ้นได้ยากมากๆ” เนื่องจากโดยปกติมักจะวางแผนให้ไปตกในมหาสมุทรอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขยะอวกาศที่ตกบนบกก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 ก.ค. 2565) ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการค้นพบขยะอวกาศในออสเตรเลีย ก็เพิ่งมีข่าวเศษชิ้นส่วนของจรวด Longmarch-5B ของจีน ตกในเขตทะเลซูลูของฟิลิปปินส์ ทำให้องค์การอวกาศฟิลิปปินส์ (PhilSA) ออกมาวิจารณ์จีนอย่างหนัก เนื่องจากไม่เคยได้รับการแจ้งเตือนใดๆ ล่วงหน้ามาก่อน
กระนั้นก็ตาม โฮลเกอร์ แคร็ก หัวหน้าโครงการความปลอดภัยอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) อธิบายว่า การที่ชิ้นส่วนตกสู่โลกโดยไม่มีการควบคุมนั้น ด้วยความรู้ที่มีในปัจจุบันก็เป็นเรื่องที่คาดเดาล่วงหน้าได้ยาก เนื่องจากเวลาจะถูกกำหนดโดยปัจจัยด้านความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศ ซึ่งก็ประกอบไปด้วยอีกหลายปัจจัยด้วยกัน
ในเรื่องนี้ ซารา เว็บบ์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสวินเบิร์น (Swinburne University) ในออสเตรเลีย จึงยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย ประกอบกับเรื่องชิ้นส่วนจรวดของจีน เพื่อตอกย้ำว่า การตรวจสอบติดตามขยะอวกาศนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าที่เคย “เพราะต่อให้เผาไหม้ไป 80% แต่สิ่งที่เหลืออยู่ ก็เทียบได้กับรถที่ตกมาจากชั้นบรรยากาศ” เธอกล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2022/08/04/world/australia/spacex-debris-australia.html