วันนี้ (24 ส.ค. 2565) หลังจากที่มีการประชุมเมื่อช่วงเช้า ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ‘รับคำร้อง’ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้วินิจฉัยปม 8 ปีนายกฯ ระหว่างนี้ ศาลฯ ยังมีมติ 5:4 ได้สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
ทั้งนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องมาวินิจฉัยในเรื่องนี้ เป็นผลมาจากการยื่นคำร้องโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งหมด 171 รายชื่อ ต่อ ชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ศาลฯ พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 82 เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2565
ในหนังสือดังกล่าว ระบุคำร้องไว้ 2 ประการ คือ (1) ขอให้ศาลฯ มีคำวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตาม มาตรา 170 วรรค 2 และมาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และ (2) ขอให้ศาลฯ มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย
ประเด็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบวาระ 8 ปีแล้วหรือไม่ ยังเป็นเหตุให้กลุ่มประชาชนหลายกลุ่มออกมาชุมนุมเมื่อวานนี้ (23 ส.ค. 2565) อาทิ คณะหลอมรวมประชาชนที่ลานคนเมือง กลุ่มมวลชนอิสระที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกลุ่มทะลุแก๊ซที่ได้มาสมทบบริเวณแยกนางเลิ้ง
ขณะเดียวกัน ในทวิตเตอร์ ผู้ใช้ก็พากันติดแฮชแท็ก #นายกเถื่อน เพื่อแสดงความไม่พอใจกับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเมื่อเวลา 10.30 น. ของวันนี้ (24 ส.ค. 2565) แฮชแท็กดังกล่าวได้ขึ้นเป็นเทรนด์อันดับ 1 ของประเทศไทย กับจำนวนทวีตมากกว่า 861,000 ครั้ง
สำหรับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 จากการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั่นทำให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะพรรคร่วมฝ่ายค้าน มองว่า วาระ 8 ปี ควรจะสิ้นสุดลงแล้วในวันนี้
อย่างไรก็ดี ฝ่ายอื่นๆ อาจมองตามแนวทางอื่นอีก 2 ทางเลือก คือ นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 คือวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กับนับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2562 คือวันที่มีการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือน มี.ค. 2562