เมื่อเกิดมาแล้ว ก็จะมีการคาดการณ์ว่า ประชากรแรกเกิดจะมีอายุอีกกี่ปีก่อนเสียชีวิต การคาดการณ์นี้ เรียกว่า ‘อายุคาดเฉลี่ยแรกเกิด (Life Expectancy at Birth)’ ซึ่งตอนนี้ สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาที่อายุคาดเฉลี่ยแรกเกิดนี้ลดลงต่ำสุด นับตั้งแต่ปี 1996
ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ระบุว่า อายุคาดเฉลี่ยของชาวสหรัฐฯ ในตอนนี้อยู่ที่ 76.1 ปี ต่างจากปี 2022 ที่อายุคาดเฉลี่ยอยู่ที่ 79 ถือเป็นการลดลงต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ
CDC รายงานว่า อายุคาดเฉลี่ยของชาวสหรัฐฯ ที่ลดลงถึง 2.7 ปี ในช่วงระหว่างปี 2020-2022 นี้ มีสาเหตุหลักมาจากโรค COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลถึง 50% ในปี 2020-2021 และส่งผลอีก 74% ในปี 2019-2020
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อย่างการบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การเสพยาเกินขนาดก็ส่งผลหนักขึ้นต่อการลดลงของอายุคาดเฉลี่ยเป็น 15.9% ในปี 2021 รวมไปถึง การป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง และการฆ่าตัวตาย ก็มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการลดลงของอายุคาดเฉลี่ยด้วย
การลดลงของอายุคาดเฉลี่ยมีอัตรามากเป็นพิเศษในกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันและชนพื้นเมืองอลาสก้า ขณะเดียวกัน ความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศ ก็มีส่วนให้อายุคาดเฉลี่ยแตกต่างกันไปด้วย
สหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในชาติที่พัฒนาแล้วที่มีอายุคาดเฉลี่ยต่ำสุด ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากธนาคารโลก ก็เผยว่าชาติที่มีอายุคาดเฉลี่ยสูงสุดคือ ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 85 ปี รองลงมาเป็นสิงคโปร์ 84 ปี และฮ่องกง 83 ปี
จอห์น ฮาร์กา (John Haaga) ผู้อำนวยการแผนกเกษียณอายุของสถาบันผู้สูงอายุแห่งชาติในสหรัฐฯ ระบุว่า การลดลงของอายุคาดเฉลี่ยถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสะท้อนปัญหาการขาดแคลนแรงสนับสนุนจากภาครัฐให้ประชาชนมีอายุยืนยาวได้ เช่น การดูแลรักษาเรื่องโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของชาวสหรัฐฯ
“ประเทศที่ยากจนกว่าจำนวนมากทำได้ดีกว่าเรามากในเรื่องอายุคาดเฉลี่ยนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องของกรรมพันธุ์ แต่เป็นการที่เราล้าหลังมานานถึง 50 ปีแล้ว” ฮาร์กากล่าว
ส่วนประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานตัวเลขย้อนหลัง 10 ปี จากเมื่อปี 2019 พบว่า คนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เพศชายอยู่ที่ 71.6 ปี และเพศหญิงอยู่ที่ 79.1 ปี โดยเฉลี่ยคนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี