‘ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น’ คือแคมเปญล่ารายชื่อที่ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา นำโดยคณะก้าวหน้า และรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 5 หมื่นรายชื่อแล้ว และในวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ ก็จะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 14 ฉบับปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อมุ่งแก้ปัญหาระบบราชการรวมศูนย์ และกระจายอำนาจคืนสู่ประชาชน เข้าสู่การประชุมร่วมของรัฐสภาด้วย
ในวันนี้ (25 พฤศจิกายน) พรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า จึงได้จัดวงพูดคุยถึงความสำคัญของแคมเปญดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล, พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการรณรงค์สื่อสารนโยบาย พรรคก้าวไกล และนักวิชาการ ได้แก่ ชำนาญ จันทร์เรือง และ วีระศักดิ์ เครือเทพ
ธนาธร ในฐานะหนึ่งในผู้ยื่นเสนอร่าง เปิดเผยว่า “ตื่นเต้นมาก” ที่ร่างกฎหมายจะได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยอธิบายถึงหลักใหญ่ใจความของร่างดังกล่าวว่า เป็นการจัดสรร ‘คน–อำนาจ–เงิน’ ให้เป็นธรรมต่อท้องถิ่น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาเจอคำพูดที่ว่า อยู่มากี่ปีก็เหมือนเดิม เลือกตั้งก็เหมือนเดิม ถ้ากระจายอำนาจได้ ตัวกลางที่จะกั้นระหว่างประชาชนกับงบประมาณ ก็จะเหลือแค่บัตรเลือกตั้งเท่านั้น ที่จะทำให้ท้องถิ่นดีขึ้นได้แน่นอน
เขายังชวนมาจับตาการประชุมร่วมของรัฐสภาในวันที่ 29-30 พฤศจิกายนนี้ ที่ร่างกฎหมาย ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ จะได้เข้าสู่การพิจารณาด้วย พร้อมขอให้สมาชิกสภาฯ และวุฒิสภา เข้าใจความตั้งใจ และพลังของท้องถิ่นในการพัฒนาประเทศ และขอให้รับร่างกฎหมายไปก่อน แม้อาจจะมีหลายมาตราที่ไม่ถูกใจ โดยให้ไปแก้กันในรายละเอียด ในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป
ด้าน พิธา อธิบายเหตุผลว่า การกระจายอำนาจ คือ การระเบิดอำนาจทางเศรษฐกิจ คือการลดความเหลื่อมล้ำ คือการต่อสู้กับปัญหาให้รวดเร็วมากขึ้น และเป็นการลดคอรัปชั่น
ทั้งหมดนี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไปได้ เพราะในขณะนี้ มีปัญหาอย่างเช่นงบประมาณ ส่วนกลางมีสัดส่วน 87% ขณะที่ท้องถิ่นมีแค่ 13% โดยที่กรุงเทพฯ เอง จะมีขนาดใหญ่กว่าเทศบาลที่อยู่ในลำดับถัดไปถึง 20 เท่า ต่างจากอังกฤษหรือญี่ปุ่นที่จะต่างกันแค่ 2-3 เท่า
พิธายังเปิดเผยถึง ‘โรดแม็ป’ ในเรื่องของการกระจายอำนาจ หากพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลด้วยว่า มีทั้งระยะสั้น–กลาง–ยาว
- 100 วันแรกที่เข้าไป จะต้องยกเลิกคำสั่งและกฎหมายแช่แข็งท้องถิ่น ที่เป็นมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกไปให้หมด
- 1 ปีแรก จะต้องมีการทำประชามติ ว่าจะให้มีการเลือกตั้งนายกฯ ท้องถิ่นหรือไม่ โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน
- และในวาระแรกของการเป็นรัฐบาล จะต้องแก้ปัญหาได้ 2 เรื่อง คือ ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และแก้ปัญหาภาษี จากเดิมที่ส่วนกลางมีสัดส่วน 65% ท้องถิ่น 35% จะต้องแบ่งเป็น 50-50 ซึ่งจะทำให้ตอบโจทย์ปัญหาแต่ละพื้นที่ได้เร็วมากขึ้น
แต่ในส่วนร่างกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น ก็ยังมีคำถามว่า เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะผ่านการเห็นชอบจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. หรือไม่? เรื่องนี้พิธาอธิบายว่า ในฝั่ง ส.ส. ทุกคนพูดว่าต้องกระจายอำนาจมากขึ้น อย่างน้อยในฝ่ายค้านก็ค่อนข้างมั่นใจว่าจะเข้าร่วมทั้งหมด ในส่วนของ ส.ว. ก็คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เนื่องจากบริบทปัจจุบัน คงปฏิเสธยากว่า ถ้าประเทศไทยจะไปต่อ ต้องกระจายอำนาจ
ขณะที่ธนาธรบอกว่า อย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ที่มีการเสนอเนื่องจากเห็นว่าเป็นอนาคตของประเทศไทยจริงๆ นี่คือทิศทางที่ประเทศไทยควรจะเดินไปข้างหน้า ต่อให้พรรคอื่นเสนอร่างนี้ ตนก็พร้อมจะสนับสนุน แต่เหตุผลที่เสนอ ก็เพราะว่ายังไม่เคยมีใครเสนอ
ส่วนวาระสำคัญๆ ของแคมเปญปลดล็อกท้องถิ่น ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ พริษฐ์ระบุว่า มีหมุดหมายสำคัญอยู่ 2 วัน คือ
- วันที่ 26 พฤศจิกายน พรรคก้าวไกลจะเปิดตัวชุดนนโยบาย ‘ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า’ เป็นชุดที่ 3 จาก 9 ชุด โดยจะทำให้เห็นว่า จะขับเคลื่อนทุกจังหวัดได้อย่างไร ทำอย่างไรประชาชนจึงจะมีสิทธิเลือกผู้บริหารของตนเอง มีงบประมาณที่กำหนดเองได้ พัฒนาบริการสาธารณะ ให้ถูก เร็ว ดี และมีคุณภาพ รวมถึงมีอำนาจของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่นมากขึ้น
- และวันที่ 29-30 พฤศจิกายน จะมีการพิจาณาร่างกฎหมาย ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ ในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งจะมีธนาธรเข้าไปชี้แจงในที่ประชุมด้วย
อ่านรายละเอียดของแคมเปญ ‘ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น’ ได้ที่: https://progressivemovement.in.th/campaign-decentralization