ยิ่งย้อนรอยศึกษาอดีตเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเข้าใจความเป็นมาของปัจจุบันมากเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีนี้ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบร่องรอบของ ‘มื้ออาหารที่เก่าแก่ที่สุดในโลก’ ในซากสิ่งมีชีวิตที่มีอายุมากกว่า 550 ล้านปี ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจที่มาของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันยิ่งขึ้น
สิ่งมีชีวิตที่ว่านี้คือ ‘Kimberella’ หน้าตาคล้ายทาก มีชีวิตอยู่ในยุคอีดีแอคารัน หรือเมื่อราว 538.8– 635 ล้านปีก่อน ซึ่งในซากฟอสซิลของมันนี้ นักวิทยาศาสตร์พบสารประกอบที่บ่งชี้ว่าพวกมันกินสาหร่ายและแบคทีเรียจากพื้นมหาสมุทร
แม้ว่าสาหร่ายและแบคทีเรียจะไม่ใช่อาหารมื้อใหญ่อะไร (ในสายตามนุษย์) แต่อาหารเหล่านี้ก็สะท้อนว่า สิ่งมีชีวิตเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนนี้ มีปาก ลำไส้ และการอาหารย่อยอาหารในลักษณะเดียวกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในยุคสมัยใหม่บางชนิด
โจเคน บรอกส์ (Jochen Brocks) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า ฟอสซิลจากยุคอีดีแอคารันนี้ เป็นหนึ่งในฟอสซิลที่สำคัญที่สุดในวิวัฒนาการ เพราะเป็นครั้งแรกที่สิ่งมีชีวิตมีขนาดใหญ่ขึ้น อีกทั้ง พวกมันยังเป็นฟอสซิลขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าด้วย
บรอกส์กล่าวอีกว่า “การมีลำไส้นั้นถือว่า [เป็นสิ่งมีชีวิตที่] ทันสมัยมาก” เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่นๆ เช่น ฟองน้ำ ปะการัง และแมงกะพรุน สัตว์เหล่านี้ไม่ได้มีลำไส้ในการย่อยอาหารเหมือนสัตว์สมัยใหม่อื่นๆ
“เราจะเห็นว่า ลำไส้ของ Kimberella สามารถย่อยคอเลสเตอรอลของโมเลกุลไขมันได้อย่างแข็งขัน และปฏิเสธโมเลกุลอื่นๆ ที่มันไม่ต้องการ” บรอกส์กล่าว ซึ่งเขายังสันนิษฐานอีกว่า เพราะเหตุนี้ สิ่งมีชีวิตในยุคอีดีแอคารันจึงมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่ายุคก่อนหน้านั้น ที่โดยมากเป็นสัตว์เซลล์เดียวและมีขนาดเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ซากของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถูกค้นพบโดย อิลยา โบบอร์สกีย์ (Ilya Bobrovskiy) หัวหน้าทีมวิจัยของศูนย์วิจัยธรณีวิทยาเยอรมัน เมื่อปี 2018 ในประเทศรัสเซีย ซึ่งเขากล่าวว่า การค้นพบนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามวิวัฒนาการของสัตว์ที่อายุเก่าแก่ที่สุดได้ และยังศึกษาได้ว่าความสัมพันธ์ของพวกมันกับลูกหลานของมันในปัจจุบันนี้มีที่มาเป็นอย่างไร
โบบอร์สกีย์ยังอธิบายอีกว่าสิ่งมีชีวิตในยุคอีดีแอคารัน ซึ่งอาศัยอยู่บนโลกก่อนเกิดการระเบิดทางชีวภาพยุคแคมเบรียน (Cambrian Explosion) ซึ่งนำมาสู่สัตว์สมัยใหม่ว่า เป็นต้นกำเนิดของเราและสัตว์ทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“สิ่งมีชีวิตเหล่านี้เป็นรากเหง้าที่เก่าแก่ที่สุดที่เราค้นพบ” โบบอร์สกีย์กล่าว
อ้างอิงจาก