“คุณมาจากส่วนไหนของแอฟริกา?”
“สัญชาติอะไร”
“คุณมาจากไหนกันแน่?”
“มาที่นี่ครั้งแรกเมื่อไหร่?”
คือบางส่วนของคำถามที่ถูกถามซ้ำๆ ภายในงานรับรองที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (29 พฤศจิกายน)
คนที่ถูกถาม คือ ‘เอ็นโกซี ฟูลานี’ (Ngozi Fulani) นักเคลื่อนไหวชาวอังกฤษ ที่เกิดในอังกฤษ และผู้บริหารขององค์กรการกุศล ‘Sistah Space’ ที่ดูแลผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกันและแคริบเบียน ในเรื่องเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว
ส่วนคนที่ถาม สื่อในอังกฤษหลายแห่งระบุว่าเป็น ‘เลดี้ ซูซาน ฮัสเซย์ (Lady Susan Hussey) ผู้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ (lady-in-waiting) ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาอย่างยาวนาน รวมถึงเป็น ‘แม่ทูนหัว’ (godmother) ให้กับเจ้าชายวิลเลียมด้วย
และเมื่อบทสนทนานี้เผยแพร่ออกไป ก็นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องทัศนคติด้านเชื้อชาติของราชสำนักของอังกฤษอย่างหนักหน่วง
ด้านฟูลานีเอง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Independent ว่า “ฉันเริ่มรู้สึกช็อกหลังจากที่ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว และใครก็ตามที่รู้จักฉัน จะรู้ว่าฉันไม่ค่อยคิดอะไรกับเรื่องไร้สาระพวกนี้” แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็ชี้ว่า มันเป็นปัญหาที่ “ใหญ่กว่าปัจเจกบุคคลคนเดียว มันคือการเหยียดเชื้อชาติในระดับสถาบัน (institutional racism)”
ส่วน มานดู เรด (Mandu Reid) หัวหน้าพรรคความเสมอภาคสตรี (Women’s Equality Party) และพยานที่ได้ยินบทสนทนาดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า การถามของ เลดี้ ฮัสเซย์ นั้น “ก้าวร้าว เหยียดเชื้อชาติ และแสดงออกถึงการกีดกัน” เธอบอกว่า เธอรู้สึกไม่เชื่อหูตัวเองว่าบทสนทนานี้จะเกิดขึ้น เพราะฟูลานีถูกถามซ้ำๆ ว่ามาจากไหน แม้จะอธิบายไปแล้วว่าเกิดที่อังกฤษก็ตาม
ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โฆษกพระราชวังบักกิงแฮมก็ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า “เรารับมือต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างจริงจังยิ่ง และได้ดำเนินการสอบสวนทันทีเพื่อให้แสวงหารายละเอียดที่ครบถ้วน ในกรณีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแสดงความคิดเห็นที่ไม่อาจยอมรับได้ และน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง”
พระราชวังบักกิงแฮมเปิดเผยด้วยว่า ผู้ที่ถามคำถามดังกล่าว (ซึ่งราชสำนักไม่ได้บอกว่าเป็นใคร) ต้องการจะขอโทษต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น และได้ลาออกจากตำแหน่งแล้วโดยมีผลทันที
ทางด้านเจ้าชายวิลเลียม ได้ออกมาแถลงผ่านโฆษกว่า พระองค์รู้สึกผิดหวังอย่างมากกับเหตุการณ์ดังกล่าว “แน่นอนว่า เราไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่สังคมของเราไม่มีที่ทางให้กับการเหยียดเชื้อชาติ คำพูดดังกล่าวไม่อาจเป็นที่ยอมรับ และมันถูกต้องแล้วที่บุคคลผู้นั้นได้ลาออกโดยมีผลทันที”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ราชสำนักอังกฤษต้องตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นของการเหยียดเชื้อชาติ ก่อนหน้านี้ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ก็เคยออกมากล่าวหาราชสำนักว่า เธอและครอบครัวต้องเผชิญกับประสบการณ์คล้ายๆ กันหลายครั้ง โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกนำมาพูดถึงอย่างมาก คือ การที่บุคคลในราชสำนักมี ‘ความกังวล’ ว่า ลูกชายของเธอจะมีผิวสีอะไร
ส่วนเหตุการณ์ล่าสุด ก็ทำให้ แคโรลีน เดวีส์ (Caroline Davies) นักข่าวของ The Guardian เขียนบทความวิเคราะห์ว่า เหตุการณ์นี้จะทำให้การเริ่มต้นรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต้องถูกปกคลุมด้วย ‘เงาอันมืดมน’ และชวนตั้งคำถามด้วยว่า หลายประเทศในเครือจักรภาพ ที่มีกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข จะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อพาดหัวข่าวของเรื่องฉาวล่าสุดเรื่องนี้
อ้างอิงจาก