กลับมาเป็นช่วงขึ้นของสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 อีกครั้ง หลังข้อมูลรายสัปดาห์ มียอดผู้ติดเชื้อที่เข้ารักษาในรพ. เพิ่มขึ้น และตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับมาแตะหลักร้อย สธ.จึงเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว 7 โรค ผู้ป่วยติดเตียง และบุคลากรด่านหน้า
วานนี้ (4 ธันวาคม) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยอมรับว่า ตามการคาดการณ์นี่เป็นช่วงขาขึ้นของการระบาดลักษณะ Small wave โดยเฉพาะใน กทม. และเมืองท่องเที่ยวต่างๆ จึงแนะนำให้ประชาชนเร่งเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น
“ประชาชนควรเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังจากเข็มสุดท้าย 4 เดือน อย่างไรก็ตามกรมควบคุมโรค อยู่ระหว่างการหารือกับคณะผู้เชี่ยวชาญถึงเรื่องประสิทธิผลของวัคซีนรุ่นใหม่ หรือวัคซีน 2 สายพันธุ์ ซึ่งหากพบว่าผลการศึกษาสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 อย่างชัดเจน ก็จะเร่งดำเนินการจัดหามาให้บริการประชาชนในปีหน้า” นพ.ธเรศ กล่าว
ข้อยืนยันของผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ปรากฏในรายงานผู้ติดเชื้อรายสัปดาห์ ช่วงวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2565 ที่มีผู้ป่วยรักษาตัวในรพ.จำนวน 4,284 ราย ซึ่งไม่ได้นับรวมผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่ได้เข้าสู่ระบบบริการ
ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 105 ราย เฉลี่ย 15 รายต่อวัน โดยยอดเสียชีวิตสะสมตั้งแต่ 1 มกราคม รวมแล้ว 11,587 ราย
สำหรับ ข้อมูลการศึกษาวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นสายพันธุ์เดิม ที่ใช้จริงในประเทศไทย (real world data) ในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนใน จ.เชียงใหม่ พบว่า วัคซีนจะลดความรุนแรงและการเสียชีวิตลง 89% ในผู้ที่รับวัคซีน 3 เข็ม และกลุ่มที่ได้ 4 เข็ม ไม่พบภาวะรุนแรงหรือการเสียชีวิตเลย ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยี่ห้อใดก็ตาม
ด้านหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก อย่างนพ.ยง ภู่วรวรรณ อธิบายว่า นี่เป็นไปตามฤดูกาลระบาดของโรคทางเดินหายใจ ที่จะขึ้นสูงสุดช่วงเดือน ม.ค. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นภูมิต้านทานให้สูงขึ้น ด้วยการรับบริการวัคซีนให้เร็วที่สุด โดยไม่รอจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือรอวัคซีนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ดี ยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เคยพูดถึงความจำเป็นของการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่เอาไว้ ชวนอ่านที่ : https://thematter.co/brief/190982/190982
และทำความรู้จักวัคซีนชนิด Bivalent ที่ประเทศไทยยังไม่มี ได้ที่ : https://thematter.co/quick-bite/what-is-bivalent-vaccine/191879
อ้างอิงจาก