“ในปี 2570 คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป” แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม กล่าว ระหว่างการประชุมวิสามัญพรรคเมื่อวานนี้ (6 ธันวาคม)
เพียงชั่วข้ามคืน นโยบายใหม่ที่หวังเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ–เงินเดือนวุฒิปริญญาตรี กลายเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ใครหลายคนพูดถึง ทั้งในแง่ตั้งคำถาม คัดค้าน และสนับสนุน
วันนี้ (7 ธันวาคม) พรรคเพื่อไทยจึงจัดแถลงข่าวนโยบายค่าแรง 600 บาท โดย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อธิบาย 4 ประเด็นเรื่องค่าแรงไว้ ดังนี้
1. ค่าแรง 600 บาท ในปี 2570 เหมาะสมไหม ทำได้หรือไม่: ประเด็นนี้ เผ่าภูมิอธิบายว่า ที่กล้าเสนอ เพราะพรรคมีวิสัยทัศน์ที่หวังยกระดับการผลิตของประเทศ เช่น เปลี่ยนจากการผลิตตามคำสั่งต่างชาติ เป็นการผลิตที่เกิดจากการสร้างนวัตกรรม, เปลี่ยนให้ภาคเกษตรกรรมที่กำหนดราคาได้ จากการใช้ตลาดนำการผลิต, เปลี่ยนให้ภาคบริการมีรายได้สูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนจากการเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนด้วยแรงงานทักษะต่ำและค่าแรงถูก เป็นประเทศที่มีผลิตภาพแรงงานที่มีศักยภาพสูงด้วย
“วิสัยทัศน์ของเรา ต่างจากผู้วิจารณ์ นั่นจึงเป็นเหตุว่าทำไมเราถึงกล้าเสนอ เพราะวิสัยทัศน์ต่างจากท่าน” เผ่าภูมิ กล่าว
ว่าง่ายๆ ก็คือ เผ่าภูมิเสนอว่า เพราะมีแนวทางพัฒนาระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศให้ดีขึ้นอยู่แล้ว จึงกล้าเสนอให้ขึ้นค่าแรงได้
2. ค่าแรง 600 บาท คิดจากอะไร: เผ่าภูมิอธิบายถึงองค์ประกอบของค่าแรง 3 ส่วน ได้แก่ 1) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 2) ผลิตภาพแรงงาน และ 3) เงินเฟ้อ
“ค่าแรงจะต้องถูกปรับตามปัจจัยเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในที่ไทยไม่ใช่แบบนั้น เพราะค่าแรงของเราต่ำเตี้ยมาโดยตลอด” เผ่าภูมิ กล่าว
รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยชี้แจงว่า ค่าแรงไทยที่ผ่านมาเกาะอยู่กับแค่ผลิตภาพและเงินเฟ้อ แต่กลับโตไม่ทัน GDP จึงกลายเป็นว่าตอนนี้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วกว่าค่าแรง รายได้เอกชนโตเร็วกว่าแรงงาน รายได้นายจ้างโตเร็วกว่าลูกจ้าง ซึ่งเผ่าภูมิยืนยันว่า เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยยอมไม่ได้ และต้องเร่งแก้ไข
หนึ่งในนโยบายพรรคเพื่อไทย คือ การผลักดันตั้งเป้าให้ GDP โตขึ้นอย่างน้อยปีละ 5% พรรคจึงมองว่าจำเป็นต้องปรับค่าแรงขั้นต่ำตามด้วยในอนาคต เพราะหากยิ่งไม่ปรับ ช่องว่างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะยิ่งกว้างขึ้น
3. ค่าแรง 600 บาท นายจ้างจะมีปัญหาไหม: “การปรับค่าแรงขั้นต่ำ จะคู่ขนานไปกับการดูแลผู้ประกอบการ และเราจะมีแพคเกจดูแลผู้ประกอบการตามมา” เผ่าภูมิ กล่าว
เขาอธิบายว่า รัฐบาลสามารถเข้าไปดูแลต้นทุนการผลิตอื่นๆ ได้ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยยืนยันว่าจะดูแลทั้งฝั่งแรงงานและนายจ้างอย่างแน่นอน
“การขึ้นค่าแรงโดยเศรษฐกิจยังโต การขึ้นค่าแรงโดยเอกชนเฟื่องฟู เป็นสิ่งที่ทำได้ และเราเคยทำมาแล้ว และเราจะทำอีกครั้ง” เผ่าภูมิกล่าว หลังอธิบายถึงผลงานขึ้นค่าแรงที่เคยทำในรัฐบาลยิ่งลักษณ์
4. ค่าแรง 600 บาท กับการเร่งเงินหมุนในเศรษฐกิจ: พรรคเพื่อไทยหวังเพิ่มความเร็วของการหมุนเงินในระบบเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 คือหนึ่งในกลยุทธ์
“รายได้ 600 บาท จะเป็นหนึ่งในคำตอบที่ทำให้คนมีรายได้ชนะภาระหนี้ และสามารถมีรายได้ได้อย่างรวดเร็ว จนเราสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ขยายตัว” เผ่าภูมิ ระบุ
ในประเด็นนี้ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายเพื่อไทย เสริมไว้ว่า เพื่อให้เงินหมุนเร็วขึ้น จึงต้องทำการ ‘รดน้ำที่ราก’ เพราะเงินจะหมุนเร็วขึ้นต่อเมื่อไปอยู่ในมือคนที่ต้องการที่สุด
“คนที่ยากจนที่สุด พอได้เงินก็จะใช้จ่าย พอใช้จ่ายก็จะเกิดการขายของ เมื่อขายของได้ โรงงานก็จะผลิตของเพิ่ม เมื่อผลิตของเพิ่มก็จะจ้างงานเพิ่ม รัฐบาลเก็บภาษีตลอดทาง” พรหมินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อธิบายถึงนโยบายค่าแรง 600 ไว้ด้วยว่า หากเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันในตอนนี้ ต้นทุนการทำธุรกิจจะต้องเพิ่ม และคนจะต้องเดือดร้อนแน่นอน เพราะเศรษฐกิจยังไม่อยู่ในสภาพที่ดีและเหมาะสม แต่เมื่อวาน เป็นการพูดถึงเศรษฐกิจภาพรวมของทั้งประเทศที่จะเติบโตไปพร้อมกันในอนาคต
“เมื่อแรงงานมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น ก็ผลักดันเศรษฐกิจทั้งประเทศให้ดีขึ้นได้เช่นกัน พอมีทรัพย์สินใช้จ่าย ก็ทำให้ภาพรวมทั้งประเทศดีขึ้นได้ เราจะต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ จะต้องรู้ด้วยว่าแรงงานต้องขึ้นค่าแรง แต่ขึ้นเมื่อเศรษฐกิจของประเทศพร้อม” แพทองธาร กล่าว
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/pheuthaiparty/videos/1285134688994309
https://thematter.co/brief/192268/192268