ถ้าใครเคยดูหนัง The Dark Knight หรือ Resident Evil คงจะเคยสังเกตเห็นเทคโนโลยีสุดล้ำที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของมนุษย์แบบเรียลไทม์ได้ แล้วถ้าเทคโนโลยีนี้อยู่ในโลกของเราจริงๆ ล่ะ จะเป็นอย่างไร?
เพราะล่าสุด นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) ในสหรัฐฯ ได้ค้นพบวิธีการตรวจจับรูปร่างและการเคลื่อนไหวของมนุษย์อย่างแม่นยำผ่านกำแพงได้ โดยใช้เพียงเร้าเตอร์ ไวไฟ (WIFI Router) ซึ่งก็คือตัวกระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย เท่านั้น
นี่เป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจาก DensePose ของ Facebook ที่เป็นโมเดลในการสร้างแบบจำลองพื้นผิว 3 มิติของร่างกาย จากภาพถ่ายแบบ 2 มิติได้ แต่ถูกนำมาพัฒนาต่อเพื่อให้มีประโยชน์ในด้านความปลอดภัยมากขึ้น เพราะนักวิจัยเชื่อว่าสามารถใช้สิ่งนี้แทนกล้องวงจรปิดที่มักจะมีอุปสรรคในการใช้งาน เช่น ถ้ามีแสงสว่างไม่มากพอ ภาพก็จะไม่คมชัด
อย่างไรก็ดี มีประเด็นถกเถียงถึงสิทธิความเป็นส่วนตัวถ้าเทคโนโลยีถูกนำมาใช้จริงๆ เพราะเทคโนโลยีต้นแบบของมันอย่าง DensePose มีประวัติที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะผลลัพธ์ของรูปภาพที่ไม่ค่อยแม่นยำ
แต่นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชื่อว่า เทคโนโลยีนี้เป็นความก้าวหน้าเชิงบวกที่จะไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งตัวแทนของพวกเขากล่าวว่า “เทคโนโลยีนี้จะตรวจสอบความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุหรือตรวจจับพฤติกรรมที่น่าสงสัยที่บ้านเท่านั้น”
ทั้งนี้ถึงแม้ว่า การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีนี้จะแสดงถึงความก้าวหน้าในโลกแห่งเทคโนโลยีก็ตาม แต่ก็ยังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในทุกวันๆ มีผู้คนประสบปัญหาโดนแฮกข้อมูลส่วนตัวทั้งจากโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก แล้วถ้าเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นจริงๆ นักวิจัยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้คนจะไม่ถูกขโมยข้อมูลอีก
อ้างอิงจาก