หากเราจะนึกถึงน้ำหอมกลิ่นดอกไม้ แน่นอนว่าหลายคนก็คงคาดหวังว่าจะได้กลิ่นที่มาจากดอกไม้ตามธรรมชาติมากกว่ากลิ่นดอกไม้สังเคราะห์อยู่แล้ว
แต่ถ้าต่อจากนี้น้ำหอมกลิ่นดอกไม้แบรนด์โปรดของใครหลายๆ อย่างคนอาจหายไป แล้วเปลี่ยนเป็นกลิ่นสังเคราะห์ เพราะผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศแทนล่ะ?
ตั้งแต่ในทศววรษที่ 17 เป็นต้นมา เมืองกราซ (Grasse) ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของเมืองแห่งน้ำหอมที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นแหล่งกำเนิดของดอกไม้ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลักของน้ำหอมแบรนด์ Dior และ CHANEL ไม่ว่าจะเป็นดอกมะลิ, เมย์โรส, ทูเบอร์โรส หรือลาเวนเดอร์
นอกจากนี้ ผู้ผลิตในเมืองกราซยังได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า เป็นผู้นําในอุตสาหกรรมนี้ อีกทั้งในปี 2018 ยูเนสโกก็ยังจัดให้กราซเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้อีกด้วย
แต่ในปัจจุบัน วิกฤติสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนานของเมืองนี้
แคโรล เบียนคาลานา (Carole Biancalana) ผู้ผลิตดอกไม้ที่ใช้สำหรับน้ำหอมที่เข้าร่วมในพิธีขอฝนกล่าวว่า “พวกเขากําลังเรียกร้องฝนจากวิญญาณ…แต่ก็ไม่คิดว่าพิธีนี้มันจะประสบความสำเร็จ”
“ผู้อาวุโสที่นี่ [เมืองกราซ] บอกว่าต่อจากนี้มันจะไม่มีฤดูกาล…เราไม่สามารถวางใจในเทพเจ้า [ที่ดูแลเรื่องฤดูกาล] ได้อีกต่อไป” เบียนคาลานากล่าว
ปัญหาทั้งความแห้งแล้ง คลื่นความร้อน และปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ ทำให้การปลูกดอกไม้ยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว เมืองกราซต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ผู้ผลิตหลายรายต้องเสียดอกไม้ไปเกือบครึ่งจากทั้งหมด เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงเกินไป ส่งผลต่อคุณภาพของดอกกุหลาบและยังทำให้ดอกไม้บางชนิด เช่นทูเบอร์โรสไม่สามารถเติบโตได้
ไม่ใช่เพียงแค่เมืองกราซเท่านั้นที่กำลังเผชิญปัญหาดังกล่าว เพราะวัตถุดิบหลักในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำหอมอย่างวานิลลาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เบอนัวต์ แวร์ดิเยร์ (Benoit Verdier) ผู้ร่วมก่อตั้งบ้านน้ำหอมสั่งทำพิเศษ Ex Nihilo Paris ให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอาจไม่ได้กระทบต่อคุณภาพกลิ่นของน้ำหอม แต่มันจะกระทบต่อราคา
ในปัจจุบัน การที่ราคาของวานิลลาและหญ้าฝรั่นสูงขึ้นเป็นผลมาจากปริมาณสินค้าที่มีจำกัดและสาเหตุจากภัยแล้ง แม้ว่าตอนนี้น้ำหอมยังไม่ขึ้นราคา แต่เมื่อต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นอาจทำให้แบรนด์น้ำหอมดังกล่าวต้องเพิ่มราคาขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้แบรนด์น้ำหอมต่างๆ กำลังต้องพิจารณาหันไปใช้กลิ่นสังเคราะห์แทน
“มุมมองโรแมนติกของน้ำหอมคือการมาจากธรรมชาติ…แต่การทำน้ำหอมในห้องแล็บยั่งยืนกว่า” เนื่องจากการเพาะปลูกพืชสำหรับน้ำหอมต้องใช้น้ำและพื้นที่เพาะปลูกในปริมาณมาก การขนส่งวัตถุดิบเหล่านี้ก็ยังทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนเช่นกัน แวร์ดิเยร์กล่าว
ในขณะที่ทางผู้ผลิตจากกราซไม่เห็นด้วย “จริงๆ แล้วเราใช้น้ำน้อยมาก” เบียนคาลานากล่าวโดยตั้งข้อสังเกตจากข้อมูลในอดีต ที่ระบุว่ากลุ่มผู้ผลิตใช้น้ำเพียง 5% ของการใช้น้ำในภูมิภาคนี้เพราะพวกเขาพยายามอย่างมากเพื่อให้แน่ใจว่าพืชผลของพวกเขาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ อาร์เมล จาโนดี้ (Armelle Janody) ประธานสมาคม Les Fleurs d’Exception du Pays de Grasse ซึ่งเป็นสมาคมที่รวบรวมผู้ผลิตจากภูมิภาคนี้ถามว่า “เราทำอะไรบ้าง ปรับตัวอย่างไร ควรขอความช่วยเหลือจากใคร ต้องทำวิจัยอะไรบ้าง…นี่คือคำถามที่เรากำลังถาม”
สำหรับพวกเขาแล้ว นี่ไม่ใช่แค่กิจกรรมทางการเกษตรเท่านั้น แต่มันยังเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกเขาด้วย เพราะอุตสาหกรรมน้ำหอมเป็นหัวใจสำคัญของเอกลักษณ์ของเมืองกราซตั้งแต่ปี 1946
อ้างอิงจาก